“นิเวศอุตสาหกรรมอ้อย” ไร้ของเหลือทิ้ง นวัตกรรมเพิ่มรายได้-ลดโลกร้อน
“อ้อย” เป็นทั้งพืชเศรษฐกิจจากภาคการเกษตร และต่อเนื่องเป็นอุตสาหกรรมน้ำตาล รวมถึงมี by-product หลายชนิดและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับโลกด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกน้ำตาลมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท สร้างงานในภาคเกษตรให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 4 แสนราย มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศกว่า 12 ล้านไร่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว ค่าแรงสูง และความรวดเร็วในการตัดอ้อย ทำให้เจ้าของไร่ใช้วิธีการเผาใบก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้สูญเสียน้ำหนักและคุณภาพความหวานแล้ว ยังส่งผลกระทบต่ออินทรียวัตถุในดิน ที่สำคัญคือเป็นการสร้างมลพิษทางอากาศ
อภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าในอดีตกระบวนการผลิตอ้อย เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว รวมทั้งเกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมาก และใช้อย่างไม่ถูกวิธี ส่งผลให้ดินเสีย มีสารเคมีสะสมอยู่ในดินมาก ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้การปลูกอ้อยมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาด ซึ่งเคยมีมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน เกิดโรคเหี่ยวเน่าแดงขึ้นต้นอ้อยเสียหายกันทั่วประเทศ ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ
ดังนั้นกลุ่ม KTIS จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ คือการเพาะปลูกอ้อย โดยได้ให้ความรู้เกษตรกรในการใช้วิธีการเกษตรอินทรีย์ (organic) ช่วยในการเพาะปลูก เช่น การใช้แตนเบียนเพื่อควบคุมจำนวนหนอนศัตรูอ้อย โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในไร่อ้อย เป็นวิธีการทำการเกษตรที่ไม่ทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติเพื่อยับยั้งไม่ให้เกษตรกรเผาใบก่อนเก็บเกี่ยวกลุ่ม KTIS ประกาศรับซื้อใบอ้อยบวกเพิ่มจากราคาอ้อย อีกตันละ 800 บาท เฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่บริษัทเข้าไปส่งเสริม เพื่อนำใบอ้อยมาใช้เป็นพลังงานชีวมวล เป็นระบบบำบัดของเสียจากการผลิตด้วยระบบเตา recovery boiler ของโรงงานเยื่อกระดาษที่ใช้ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบ 100 % ปราศจากสารคลอรีนซึ่งมีสารก่อมะเร็งสูงในการฟอกขาวเยื่อ ทำให้ได้เยื่อกระดาษที่เหมาะกับผลิตภัณฑ์อาหารและภาชนะใส่อาหาร
รวมทั้งมีระบบการผลิตก๊าซชีวภาพของโรงงานเอทานอล เพื่อบำบัดน้ำเสียโดยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ผลิตปุ๋ย bio fertilizer จากผลพลอยได้ เช่น ตะกอนหม้อกรองที่ได้จากการผลิตน้ำตาล ตะกอน sludge จากการผลิตเยื่อกระดาษ น้ำวีนาสจากการผลิตเอทานอล และขี้เถ้าจากเตาผลิตไฟฟ้า เป็นอินทรีย์สาร จำหน่ายราคาถูกให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยไปใช้เป็นสารปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งอินทรียสารเหล่านี้ช่วยปรับปรุงให้คุณภาพดินดีขึ้น เพื่อให้ชาวไร่ได้อ้อยที่มีคุณภาพดี
“เรียกว่าทุกกระบวนการผลิตอ้อยนำมาใช้ประโยชน์ได้หมด เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน อีกทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรจะค่อย ๆ ลดลง รวมทั้งปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยดึงเคมีต่าง ๆ ในดินออกมาใช้ประโยชน์ ดินก็จะฟื้นสภาพ ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมให้เป็น สมาร์ทฟาร์เมอร์ และได้รับคาร์บอนเครดิต”
การส่งเสริมเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาลดังกล่าว ปัจจุบันสร้างรายให้กับบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 20 % จากรายได้ ปี 64 รวม 1.0419 หมื่นล้านบาท และปี 65 รวม 1.4 หมื่นล้านบาท โดยแนวโน้มสัดส่วนของธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเติบโตตามความต้องการมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กลุ่ม KTIS ยังวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย เพราะการเลือกใช้พันธุ์อ้อยได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่จะยกระดับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และสามารถพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ซึ่งกลุ่ม KTIS ได้พัฒนาพันธุ์อ้อยต่าง ๆ ตามที่ตั้งของโรงงานน้ำตาล คือ โรงงานเกษตรไทย 1 และ 2 ที่จ.นครสวรรค์ และโรงงานไทยเอกลักษณ์ ที่จ. อุตรดิตถ์ กำลังการผลิตรวม 88,000 ตันต่อวัน
ปัจจุบันได้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของกลุ่ม KTIS จึงได้ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนแล้ว 5 สายพันธุ์ ได้แก่ รวมผล 1, รวมผล 2, เกษตรไทย 1, เกษตรไทย 2 และ ไทยเอกลักษณ์ 1
โดยอ้อยทั้ง 5 สายพันธุ์ใหม่ มีความหวาน 13-14 C.C.S. ให้ผลผลิต 12-17 ตันต่อไร่ 4-8 ลำต่อกอ ลำต้นตรงไม่โค้ง หรือหักงอ เหมาะสำหรับการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว โดยพันธุ์รวมผล 1 สามารถต้านทางโรคเหี่ยวเน่าแดง ได้ด้วย
“อ้อย 5 สายพันธุ์ใหม่นี้ เป็นทางเลือกของเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อลดสัดส่วนอ้อยพันธุ์เดิม ที่ใช้มาต่อเนื่องและยาวนาน ก่อให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากศัตรูพืชมีการปรับตัวจนสามารถเข้าทำลายอ้อยพันธุ์นั้นได้ การเลือกใช้พันธุ์อ้อยได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่นอกจากจะยกระดับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรแล้วยังสามารถพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบต่อไปได้” นายอภิชาตกล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า การมุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยที่ดีขึ้นของกลุ่ม KTIS นี้ สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economic Model) ที่มีเป้าหมายใช้ผลผลิตจากธรรมชาติ ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้สูงและต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
โดยอ้อยเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท สร้างงานในภาคเกษตรให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 4 แสนราย มีพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศกว่า 12 ล้านไร่
และจากความพยายามของธุรกิจเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมทั้งระบบ ผ่านการสร้างประโยชน์จากผลผลิตให้ได้มากที่สุด เพื่อส่งกลับประโยชน์สู่เกษตรกรชาวไร่ และสร้างนิเวศของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน