บางจากนำไทย สู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน (SAF) แห่งแรกในประเทศ
ปัจจุบันนี้โลกเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global boiling) ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง เป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศทางธรรมชาติ ทั้งนี้อุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระสู่ชั้นบรรยากาศต้องการมุ่งสู่ Net Zero ทว่ามีข้อกำจัดมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด กระนั้นทางออกคือการพัฒนานวัตกรรมเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงเป็นผู้ริเริ่มและผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืนแห่งแรกในไทยเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด
รุกธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน
คุณสุรพร เพชรดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ในฐานะผู้บุกเบิกและเป็นผู้ผลิต SAF เผยว่า วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตของเรา คือ น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (UCO) นอกจากนี้ยังสามารถผลิตได้จากของเสียจำพวกน้ำมัน (Waste oil) เช่น ไขมันสัตว์ (Animal fat) วัตถุดิบที่ใช้จะต้องควบคุมคุณภาพที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองมารตฐาน ISCC ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้หลักอย่างสายการบินที่ต้องการ Waste oil เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน แต่ปริมาณ UCO มีไม่เพียงพอ บางจากจึงได้ร่างแผนการทำงาน โดยอ้างอิงจากปริมาณน้ำมันพืชที่ประชาชนบริโภคอยู่ที่ 3-4 ล้านลิตร/วัน หากเก็บรวบรวมได้ 30-40% หรือ 1 ล้านลิตรจะกลายเป็นการออกแบบหน่วยผลิตน้ำมัน SAF ของกระบวนการผลิต ตอนนี้เก็บรวบรวมได้ 50-60% ซึ่งปัจจุบันบางจากได้ร่วมมือกับบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012) จำกัด เป็นผู้เก็บรวบรวม UCO โดยบริษัทธนโชคใช้เทคโนโลยีการปรับสภาพน้ำมันพืชใช้แล้ว (Pre-Treatment) ในการกรองกากตะกอนออกและรวบรวมเป็น feedstock
ในการรักษาวัตถุดิบหลังเก็บรวบรวมมาแล้ว เบื้องต้นต้องดูคุณสมบัติของ UCO ก่อน ซึ่งคุณสมบัติจะต้องสอดคล้องกับแหล่งที่มา ถ้าเป็นอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่จะมีการควบคุมคุณภาพมาให้ค่อนข้างดีและมีผลการทดลองหรือ COA (Certificate of Analysis) ถ้ารวบรวมจากร้านค้ารายย่อยหรือครัวเรือน คุณภาพจะแตกต่างกันไป
ผลักดันวัตถุดิบทดแทนอื่น ส่งเสริมภาคเกษตรไทย
ในอนาคต UCO จะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางจากจึงได้หารือกับภาครัฐให้ออกนโยบายผลักดันให้ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็น Feedstock แต่จากมาตรฐาน ISCC ประกาศห้ามใช้น้ำมันปาล์มดิบ เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาในธุรกิจอาหารที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อาหารทั้งหมด เนื่องด้วยผลผลิตปาล์มน้ำมันในแถบยุโรปมีน้อย แต่ในบ้านเรามีปาล์มน้ำมันเยอะจึงอยากขอความร่วมมือกับภาครัฐ เป็นการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมในประเทศอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ การใช้ SAF สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80% และยังเกิดผลดีในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทิ้ง UCO ลงสู่สิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการเกิดน้ำท่วมได้เนื่องจากจะไปรวมตัวเป็นก้อนไขมันกับขยะและไปอุดตันรางระบายน้ำได้ ด้านสุขภาพ ลดการนำน้ำมันกลับมาใช้ซ้ำซึ่งเป็นการลดปัญญาด้านสุขภาพของผู้บริโภค ป้องกันการเกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือโรคมะเร็งได้ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนจากการนำ UCO มาขาย
เห็นได้ว่าประโยชน์ที่กล่าวมาสอดคล้องกับ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และจะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างแน่นอน
การแข่งขันในตลาดเชื้อเพลิง SAF
ตลาดเชื้อเพลิง SAF ในปัจจุบันยังคงน่าเป็นห่วงในหลาย ๆ ส่วน แต่ในระยะยาวจะดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไทยประกาศนโยบายกำหนดให้ปี 2026 เพิ่มสัดส่วนการผสม SAF ที่ 1% และความต้องการใช้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเปอร์เซ็นต์การผสมจะเพิ่มขึ้นตามแผนปีที่วางไว้ ผนวกกับหลาย ๆ ประเทศประกาศแผนของตัวเอง ขณะนี้ทุกคนพยายามผลิต SAF จึงเกิดการแข่งขัน ซัพพลายคงเยอะขึ้น แต่เบื้องต้นจะเยอะกว่าดีมาน ในอนาคตทุกคนจะตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมในการเข้าสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ซึ่ง SAF ตอบโจทย์ภาคส่วนอากาศยานมากที่สุด เพราะฉะนั้นดีมานจะสูงขึ้นตาม ในเวลาเดียวกันจะเจอปัญหา Feedstock ถ้าทั่วโลกใช้ UCO เป็นหลัก ปริมาณน่าจะมีไม่เพียงพอ แต่จะให้หันมาบริโภคน้ำมันทอดมากขึ้นก็จะขัดต่อเรื่องการดูแลสุขภาพ
การแข่งขันอีกหนึ่งอย่างคือราคา ราคาน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนจะสูงกว่าน้ำมันเครื่องบินปกติ ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ซื้อตั๋วเครื่องบินในราคาที่แพงขึ้น เพราะเทคโนโลยีและต้นทุนที่สูง แต่ถ้าได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐในเรื่องเงินช่วยเหลือต่าง ๆ เช่นนี้จะไม่เป็นการผลักภาระไปสู่ผู้บริโภค
แผนการผลิต SAF ในปี 2025
ปัจจุบันบางจากมีโรงงานกำลังก่อสร้างที่จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2025 และมีผลิตภัณฑ์ออกมาในไตรมาส 2/2025 กลุ่มลูกค้าแรกที่ให้ความสำคัญในขณะนี้จะเป็นเที่ยวบินในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ คิดเป็น 10% ส่วนที่เหลือจะส่งออก คิดเป็น 90% น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน (SAF) ทั้งหมดจะอยู่ในบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) โดยมีบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012) จำกัด เป็นผู้รวบรวม feedstock ให้ BSGF นำไปผลิต หลังเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตจะขนสินค้าด้วยบริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) ผ่านระบบท่อขนส่งน้ำมัน ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปยังระบบท่อขนส่งน้ำมันที่เชื่อมต่อไปถึงสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ
กล่าวได้ว่าหลายภาคส่วนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกอุตสาหกรรมจึงช่วยกันเร่งหาทางออกเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมการบิน โดยในปี 2021 สมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association) หรือ IATA ได้ประกาศพันธสัญญา “Fly Net Zero” เป็นการตั้งเป้าหมายร่วมกันของสายการบินทั่วโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 บริษัท BSGF จึงพร้อมขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิง SAF เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งสามารถลดคาร์บอนได้ประมาณร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอากาศยานแบบดั้งเดิม โดยใช้ UCO เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต พร้อมหาแนวทางสำรองอื่นหากวัตถุดิบหลักมีไม่เพียงพอ