ผลผลิตน้ำตาลของบราซิล เล็งเพิ่มทำสถิติจากโรงงานพ้นล้มละลาย
โรงงานผลิตน้ำตาลในบราซิลรายใหญ่มุ่งส่งเสริมการผลิตในปี 67 เพราะหลายบริษัทที่พ้นภาวะล้มละลายเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตต่อ ขณะบริษัทอื่นได้ลงทุนในการดำเนินการผลิตตามการคาดการณ์ของ เบเป บังกี้ ไบโอเอเนอร์เจีย (BP Bunge Bioenergia S.A.)
บริษัทซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในการผลิตเอทานอลจากน้ำตาลระหว่าง เบเป บังกี้ ไบโอเอเนอร์เจีย ที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ และบริษัทบังกี้ ที่เป็นบริษัทซื้อขายแลกเปลี่ยนพืชผล คาดว่าโรงงานในภาคกลาง – ใต้จะผลิตน้ำตาลได้ถึง 41.6 ล้านตันในปี 2567 ผู้อำนวยการการค้า ริการ์โด การ์วัลยู กล่าวในการสัมภาษณ์ว่าจะเพิ่มผลผลิตขึ้น 1.7% ในปีเก็บเกี่ยวปัจจุบันซึ่งก็ได้รับการคาดการณ์ว่าจะสูงเป็นประวัติการณ์
การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลมากถึง 2 ล้านตันในปี 2567 มาจากการที่โรงงานกลับมาดำเนินการหรือทำการเพิ่มผลผลิตหลังจากประสบปัญหาทางการเงินมายาวนาน ตามนโยบายควบคุมเงินเฟ้อทำพิษอุตสาหกรรมนี้เมื่อประมาณสิบปีก่อน อีกทั้งราคาน้ำตาลที่สูงยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนระลอกใหม่
“โรงกลั่นเอทานอลกำลังเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำตาล บริษัทต่าง ๆ ได้ลงทุนเพื่อแก้ปัญหาในกระบวนการผลิตที่ล่าช้า และโรงงานที่เคยอยู่เฉยก็กลับมาดำเนินกิจการ” โทมัส การ์โดโซ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ พัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมของบริษัทร่วมทุนกล่าว และเสริมต่อว่า บางโรงงานที่ล้มละลายไปได้ขายอุปกรณ์เก่าที่ได้ถูกประกอบขึ้นใหม่ จากนั้นกลับมาเริ่มดำเนินการใหม่อีกครั้ง
แม้จะเป็นไปได้ยากที่บราซิลจะเพิ่มผลการเก็บเกี่ยว แต่สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในปีนี้ก็คาดการณ์ไว้ว่าผลผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น เบเป บังกี้ ยังคาดการณ์ว่าโรงงานจะหีบอ้อยได้ถึง 612 ล้านตันในปี 2567 ซึ่งน้อยกว่าปี 2566 ราว 24 ล้านตัน แต่ที่สุดแล้วจะผลิตน้ำตาลได้มากขึ้นเมื่อผ่านช่วงคอขวดในตอนแรกไป และการเก็บเกี่ยวอ้อยน่าจะเริ่มขึ้นเร็วกว่าปกติเพราะโรงงานหลายแห่งเริ่มดำเนินการในมีนาคม ไม่ใช่เดือนเมษายน การ์วัลยูกล่าว
โลกต้องพึ่งน้ำตาลบราซิลมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการ ท่ามกลางแนวโน้มที่ย่ำแย่ของภาคเกษตรในอินเดียและไทย ขณะเดียวกันราคาน้ำตาลดิบในนิวยอร์กน่าจะพุ่งขึ้นเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ถือเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 2532