‘ศรีสำโรง 1’ พันธุ์อ้อยตัวเลือกใหม่ที่คุ้มค่าของเกษตรกร ในตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศไทย และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท ที่สามารถนำอ้อยไปต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ได้หลากหลายด้าน แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่แปรปรวน การปลูกอ้อยในที่เดิมๆ มาเป็นเวลานาน การเกิดโรคต่างๆ ในอ้อย ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรขาดรายได้ ‘อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1’ จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจมากสำหรับเกษตรกรไทยในขณะนี้นอกเหนือจากการปลูกอ้อยส่งเข้าโรงงาน จากกระแสของการขายท่อนพันธุ์อ้อยตามสื่อออนไลน์ เพื่อนำมาปลูกคั้นน้ำขาย ซึ่งเกษตรกรที่จำหน่ายน้ำอ้อย จะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าการส่งโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะขายได้ 55,410-92,350 บาท หรือผลผลิตน้ำคั้น 5,647 ลิตร/ไร่ ต่อลิตรละ 40-50 บาท เลยทีเดียว
อุตสาหกรรมอ้อยคั้นน้ำในปัจจุบันกำลังเป็นที่น่าจับตามอง และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการนิยมบริโภคน้ำอ้อยสดของคนไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่าการขายน้ำอ้อยมีทั่วทุกพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งเกษตรกรก็สามารถมีรายได้ทุกวัน อีกประการหนึ่งก็คือ การขายน้ำอ้อย มีรายได้ดีกว่าส่งอ้อยเข้าโรงงาน เพราะราคาดีกว่า 3-4 เท่า ทำให้ธุรกิจตัวนี้ กำลังเดินหน้ามาก ทั้งคนปลูก และผู้บริโภค ทำให้อ้อยคั้นน้ำ ‘ศรีสำโรง 1’ ซึ่งวิจัยโดย คุณรวีวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน จึงเป็นตัวเลือกใหม่ที่สำคัญของการเดินหน้าเศรษฐกิจอ้อยคั้นน้ำในขณะนี้
จุดเริ่มต้นพันธุ์อ้อยคั้นน้ำศรีสำโรง 1
การวิจัยพันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1 คุณรวีวรรณเผย ว่าเริ่มต้นมาจากการพัฒนาพันธุ์อ้อยโรงงานตั้งแต่ปี 2543 โดยผสมพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี และนำกล้าอ้อยมาคัดเลือกพันธุ์ประเมินผลผลิตขั้นตอนการเปรียบเทียบเบื้องต้น การเปรียบเทียบมาตรฐาน ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย หรือเดิมคือสถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง ทำให้มีการรับรองพันธุ์เป็นอ้อยคั้นน้ำพันธุ์รับรอง โดยใช้ชื่อพันธุ์ “ศรีสำโรง 1” ซึ่งเป็นชื่ออำเภอในจังหวัดสุโขทัยที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานที่พัฒนาพันธุ์นี้ขึ้นมา
จากนั้นมีการทดสอบในไร่เกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออก และประเมินการยอมรับของเกษตรกร ระหว่างปี พ.ศ. 2545-2562 ซึ่งระหว่างการประเมินผลผลิต ผู้วิจัยพบว่าอ้อยพันธุ์ศรีสำโรง 1 มีคุณสมบัติที่สามารถนำมาคั้นน้ำได้ โดยสังเกตจากสีลำที่มีสีเหลืองอมเขียว คล้ายกับพันธุ์สุพรรณบุรี 50 แต่ให้ผลผลิตน้ำคั้น และเปอร์เซ็นต์หีบ จะสูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 นอกจากนี้ ยังมีรสชาติหอมหวาน แต่ความหวานจะต่ำกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เล็กน้อย และสีน้ำคั้นจะมีสีเหลืองอมเขียว ส่วนพันธุ์สุพรรณบุรี 50 จะมีสีเขียวอมเหลือง และน้ำคั้นเมื่อนำมาตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง 3-4 ชั่วโมง สีจะไม่เปลี่ยนและไม่ตกตะกอน
อ้อยคั้นน้ำพันธุ์นี้ มาจากการผสมเปิดของอ้อยพันธุ์ RT96-018 หรือพันธุ์ KWT07 มีทรงกอตั้งตรง ทรงใบชัน ปลายโค้ง คอใบรูปสามเหลี่ยมชายธงสีเหลืองเหลือบเขียว ปล้องตรงกลางโค้ง สีปล้องเมื่อต้องแสงมีสีเหลืองเหลือบเขียว และเมื่อไม่ต้องแสงมีสีเขียวเหลือบเหลือง ปล้องมีการเรียงตัวค่อนข้างตรง ปล้องมีรอยแตกตื้น ตานูนรูปไข่ป้าน อยู่ต่ำกว่าวงเจริญ ไม่มีร่องเหนือตา จุดกำเนิดรากเรียบตัวไม่เป็นระเบียบ หูใบด้านนอกรูปใบหอกสั้น หูใบด้านในยอดงอเข้า
อุตสาหกรรมอ้อยคั้นน้ำไทยเฟื่องฟู เกษตรกรได้ผลตอบแทนสูง
ปัจจุบันมีผู้บริโภคน้ำอ้อยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการซื้อขายน้ำอ้อยก็มีทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ อ้อยคั้นน้ำเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง เกษตรกรหรือผู้ขายสามารถมีรายได้ทุกวัน นอกจากนี้ อ้อยคั้นน้ำยังเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง น้ำอ้อยต่อหน่วย (28.35 กรัม) มีพลังงาน 26.56 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 27.51 กรัม น้ำตาล 26.98 กรัม โปรตีน 0.27 กรัม แคลเซียม 11.23 มิลลิกรัม (1%) เหล็ก 0.37 มิลลิกรัม (3%) โพแทสเซียม 41.96 มิลลิกรัม (1%) โซเดียม 17.01 มิลลิกรัม (1%)
“เกษตรกรจะนิยมนำอ้อยคั้นน้ำศรีสำโรง 1 ไปคั้นน้ำขาย เพราะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าการส่งโรงงานน้ำตาล และจำหน่ายให้พ่อค้าหีบน้ำอ้อยในราคากิโลกรัมละ 3-5 บาท ต่อผลผลิต 18.47 ตัน/ไร่ ซึ่งจะขายได้ 55,410-92,350 บาท หรือผลผลิตน้ำคั้น 5,647 ลิตร/ไร่ ลิตรละ 40-50 บาท และในส่วนของท่อนพันธุ์อ้อยที่ขายตามสื่อออนไลน์ ตอนนี้กำลังเป็นที่ต้องการของเกษตรกร โดยราคาจะมีตั้งแต่กิโลกรัมละ 5-7 บาท ข้อตาละ 2-20 บาท หรือต้นกล้าละ 15-140 บาท” คุณรวีวรรณ กล่าว
จากอ้อยคั้นน้ำ สู่น้ำอ้อย และผลิตภัณฑ์อ้อยแปรรูป
จากลักษณะเด่นที่อ้อยพันธุ์ศรีสำโรง 1 มีในเรื่องผลผลิตน้ำคั้น เปอร์เซ็นต์หีบสูง น้ำอ้อยมีรสชาติหอมหวาน และเมื่อบริโภคเป็นอ้อยเคี้ยว ก็พบว่า สามารถนำมาเคี้ยวได้ไม่แข็ง และซังอ้อยไม่ยุ่ย ยิ่งไปกว่านั้น ในเขตภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดสุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี มีการแปรรูปอ้อยหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น อ้อยงบ อ้อยหลอด อ้อยแว่นหรืออ้อยวง อ้อยกะทิ อ้อยกระแทก และขนมอีเหนียว ราคาขายกิโลกรัมละ 27-30 บาท ยกเว้นอ้อยกะทิ ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ผลผลิตอ้อย 18.47 ตัน ความหวาน 13.69 ซีซีเอส จะผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 2.52 ตัน คิดเป็น 68,040-75,600 บาท แต่การแปรรูปจะมีต้นทุนสูงมาก
การเพาะปลูกและดูแลอ้อยคั้นน้ำ ‘ศรีสำโรง 1’
ส่วนการปลูกและการดูแลรักษาอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ศรีสำโรง 1 คุณรวีวรรณ ให้ข้อมูลว่า มีวิธีปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกันกับพันธุ์สุพรรณบุรี 50 แต่อาจจะต้องลงทุนในเรื่องของท่อนพันธุ์สูงกว่า เพราะยังมีท่อนพันธุ์ไม่มากนัก ทำให้มีราคาแพง วิธีการปลูกนั้น แนะนำให้ปลูกเป็นหลุมจะง่ายต่อการจัดการแปลง และจะมีการแตกกอดีกว่าการปลูกเป็นแถวยาวและเป็นการประหยัดท่อนพันธุ์ ใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก เกรด 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ในดินทราย หรือ 25 กิโลกรัมต่อไร่ในดินร่วนหรือดินเหนียว ควรมีการให้น้ำเพื่อให้อ้อยงอก และให้น้ำสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยแต่งหน้าเมื่ออ้อยอายุ 2-3 เดือน อัตราเดียวกันกับปุ๋ยรองพื้น ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง และมีระบบน้ำไม่ควรใส่ปุ๋ยอัตราสูง จะทำให้ลำต้นแตก เนื่องจากอ้อยคั้นน้ำสามารถขายได้ตลอดทั้งปี ควรมีการจัดการบริหารแปลงให้สามารถตัดขายได้ทั้งปี โดยการตัดควรตัดเป็นแถบ ห้ามเลือกลำตัด จะทำให้การดูแลแปลงยุ่งยาก
จับตาดูอ้อยคั้นน้ำสายพันธุ์ใหม่ปี 64
ความสนใจของเกษตรกรในการซื้อขายท่อนพันธุ์อ้อยศรีสำโรง 1 มีมากขึ้น ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อนำมาเพาะปลูกเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากส่งอ้อยเข้าโรงงาน คุณรวีวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมวิชาการเกษตรมีการพัฒนาพันธุ์อ้อยอย่างต่อเนื่อง ทั้งอ้อยโรงงาน อ้อยคั้นน้ำ และอ้อยพลังงาน สำหรับอ้อยคั้นน้ำกรมวิชาการเกษตรมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น และศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละแหล่งปลูก ทำให้คาดว่าในปี 2564 จะรับรองพันธุ์อ้อยคั้นน้ำอย่างน้อย 1 พันธุ์ โดยศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารจัดทำข้อเสนอเพื่อพิจารณารับรองพันธุ์”
อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ศรีสำโรง 1 จึงเหมาะเป็นตัวเลือกใหม่ที่ดีแก่เกษตรกรในการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย นอกเหนือจากอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ที่มีมาก่อนหน้านี้ เพราะผู้เพาะปลูกสามารถเพิ่มมูลค่าได้หลากหลายทั้งจากการคั้นเป็นน้ำอ้อย การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือแม้กระทั่งส่งเป็นอ้อยเข้าโรงงาน หรือผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อยด้วย ถึงแม้ว่าอ้อยคั้นน้ำศรีสำโรง 1 จะพึ่งได้รับการรับรองพันธุ์มาไม่นาน แต่ในอนาคต ‘ศรีสำโรง’ ก็จะเป็นอ้อยคั้นน้ำที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยคั้นน้ำในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน