อินโดนีเซียทบทวนแผนภาษีนำเข้าน้ำตาล
ทีมผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาแก่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต กำลังทบทวนแผนการจัดเก็บภาษีการนำเข้าน้ำตาลเพื่อช่วยเหลือการระดมทุนโครงการเอทานอลของประเทศ สมาชิกในทีมคนหนึ่งกล่าว
การนำเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มและเชื้อเพลิงเอทานอลมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของวาระการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของปราโบโวที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ตุลาคม
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียมีปริมาณการผลิตอ้อยที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอลไม่เพียงพอต่อความต้องการในภายประเทศ และยังคงต้องพึ่งพาน้ำตาลนำเข้า
ขณะนี้ต้นทุนการผลิตเอทานอลในอินโดนีเซียสูงกว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันเบนซินต่อลิตร ทำให้ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้ผลิต
อาลี มุนดาคีร์ ทีมสมาชิกที่ให้คำปรึกษากับปราโบโวกล่าวว่า เพื่อช่วยระดมทุนในการลดช่องว่างราคา ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษากับปราโบโวกำลังทบทวนความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีการนำเข้าน้ำตาล
“ดังนั้นจึงตรงกันข้ามกับการจัดเก็บภาษีน้ำมันปาล์มที่กำหนดให้มีภาษีส่งออก” อาลีกล่าวกับผู้เข้าร่วมสัมมนาทางเว็บที่จัดโดย Institute for Essential Services Reform (IESR)
อินโดนีเซียจัดเก็บภาษีจากการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อระดมทุนให้กับโครงการต่าง ๆ ของภาคส่วนนี้ รวมถึงการอุดหนุนโครงการไบโอดีเซลของประเทศ
อาลีกล่าวเสริมด้วยว่า “เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ขณะเดียวกันก็มองหาวัตถุดิบอื่นสำหรับการผลิตเอทานอลด้วย”
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทีมงานได้หารือข้อเสนอนี้กับปราโบโวโดยตรงหรือไม่ และอินโดนีเซียมีแผนกำหนดให้ใช้เอทานอลในน้ำมันเบนซินไม่เกิน 15%
รัฐบาลปัจจุบันมีเป้าหมายขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในประเทศจาก 180,000 เฮกตาร์ เป็น 700,000 เฮกตาร์ (1.73 ล้านเอเคอร์) ในปี พ.ศ. 2565 และมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตอ้อยเพื่อพึ่งพาตนเองได้ภายในปี พ.ศ. 2571