อุตสาหกรรมน้ำตาลของเวียดนามตั้งเป้าฟื้นผลผลิตอ้อย
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศเวียดนามคาดว่าผลผลิตจากการเพาะปลูกอ้อยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีการผลิต 2022 – 2023 โดยได้อานิสงส์จากผลิตภาพที่สูงขึ้นประกอบกับนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากน้ำตาลที่นำเข้าอย่างมีประสิทธิภาพ
สมาคมน้ำตาลแห่งเวียดนามประเมินว่าพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในเชิงพาณิชย์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 151,305 เฮกตาร์ในปีการผลิต 2022 – 2023
ผลผลิตจากอ้อยเพื่อการแปรรูปมีปริมาณอยู่ที่ราว ๆ 8.76 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตโดยเฉลี่ย 66.2 ตันต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ น้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยมีปริมาณอยู่ที่ 870,930 ตัน เป็นตัวเลขผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 124,000 ตันจากปีการผลิต 2021 – 2022
นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยจะเพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการเยียวยาทางการค้าสำหรับน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยซึ่งนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย และเมียนมาร์ภายในกรอบระยะเวลา 5 ปี
สำหรับในปีการผลิต 2022 – 2023 นั้น คาดว่าจะมีโรงงานแปรรูปน้ำตาลเพียง 24 แห่งที่สามารถเดินสายการผลิตได้ ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากับในปีการผลิต 2021 – 2022 โดยมีขีดความสามารถในการแปรรูปอ้อยรวมกันเป็นปริมาณ 122,200 ตันต่อวัน
ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปน้ำตาลระบุว่าในรอบปีการผลิตนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลของเวียดนามจำเป็นจะต้องส่งเสริมและยกระดับความเข้มแข็งในกระบวนการผลิตและแปรรูปอ้อยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
โดย Nguyen Van Loc ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมน้ำตาลแห่งเวียดนามได้แสดงมุมมองไว้ว่า
“ผู้ประกอบการต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อสร้างตลาดน้ำตาลที่มีความเข้มแข็ง มาตรการเยียวยาทางการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำตาลมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการทุ่มตลาดรวมไปถึงการส่งเสริมและสร้างเสถียรภาพด้านราคา”
นอกจากนี้ก็ยังจำเป็นจะต้องสร้างความโปร่งใสในกระบวนการวิเคราะห์ค่าความหวานของอ้อย (CCS) และการประเมินผลจากการลดระดับสารปนเปื้อนของน้ำตาลในโรงงานผลิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ
ในอดีตเวียดนามเคยมีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกอ้อยอยู่ 300,000 เฮกตาร์ แต่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรได้แปรสภาพพื้นที่การเพาะปลูกอ้อยกว่าครึ่งไปเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นแทน
ดังนั้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของเวียดนามจำเป็นจะต้องทวงคืนพื้นที่ในการเพาะปลูกอ้อยให้ได้เป็นจำนวน 250,000 เฮกตาร์ภายในปี 2025 และ 300,000 เฮกตาร์ภายในปี 2028
เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายดังกล่าว สมาคมน้ำตาลแห่งเวียดนามจึงให้ข้อเสนอแนะกับทางกระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบทในการมุ่งเน้นความสำคัญของการมอบเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านสายพันธุ์อ้อยและจัดทำโครงการส่งเสริมพันธุ์อ้อยในพื้นที่เพาะปลูกหลักของประเทศ
สมาคมฯ ยังเสนอให้เพิ่มอ้อยลงไปในรายชื่อพืชผลที่ผู้ปลูกจะได้รับการประกันคุ้มครองเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเป็นอย่างมาก
และสมาคมน้ำตาลแห่งเวียดนามได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลและกระทรวงการเกษตรฯ ให้ช่วยสนับสนุนสมาคมฯ ในการพัฒนาระบบบริหารและตรวจสอบย้อนกลับสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำตาลในระดับประเทศอีกด้วย โดยระบบนี้มีความสามารถในการกำกับควบคุมและตรวจจับการลักลอบน้ำตาลรวมถึงการค้าขายน้ำตาลปลอมในตลาดเวียดนาม
สมาคมฯ มองว่าการป้องกันการลักลอบน้ำตาลและการค้าขายน้ำตาลปลอมอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานระหว่างสมาชิกทุกฝ่ายของสมาคมฯ
ข้อมูลจากทางสมาคมระบุว่าในปีการผลิต 2021 – 2022 นั้น ปริมาณของอ้อยที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปมีจำนวนอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน เป็นตัวเลขที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.6% เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2020 – 2021
มีโรงงานน้ำตาลในเวียดนาม 24 แห่งที่แปรรูปน้ำตาลในปริมาณรวมกัน 949,219 ตัน โดยน้ำตาล 746,899 ตันจากจำนวนนี้ได้มาจากการแปรรูปอ้อยในประเทศ ส่วนที่เหลือได้มาจากการนำเข้าน้ำตาลดิบ
ในปีการผลิต 2021 – 2022 ราคาของอ้อยดิบปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 100,000 – 150,000 ด็องต่อตันเมื่อเทียบกับปีการผลิตรอบก่อนหน้า
ราคาอ้อยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกษตรกรจำนวนมากหันกลับมาเพาะปลูกอ้อย ปริมาณของผลผลิตอ้อยในประเทศจึงปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าพื้นที่การเพาะปลูกอ้อยจะเหลือน้อยลงกว่าเดิม แต่กลับให้ผลผลิตในปริมาณเทียบเท่ากับปีการผลิตรอบก่อนหน้า
ในปี 2021 เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั่วประเทศอยู่ 166,902 เฮกตาร์ เป็นการหดตัวลงจาก 185,455 เฮกตาร์ในปี 2020 ในขณะที่ปี 2021 ผลผลิตอ้อยโดยเฉลี่ยของเวียดนามมีปริมาณอยู่ที่ 64.5 ตันต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 2.5% จากปีก่อนหน้า