อุบลไบโอ ดันเทคโนโลยี ‘ZERO WASTE’ ทุ่มพันล้านบำบัดน้ำเสียเป็นศูนย์
กลุ่ม บ.อุบลไบโอฯ ทุ่มกว่า 1,000 ล้าน นำเทคโนโลยี ZERO WASTE บำบัดน้ำเสียครบวงจร เพิ่มมูลค่า“กากมันสำปะหลัง” เป็นปุ๋ยอินทรีย์และผลิตพลังงาน น้ำสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุนเสริมเกษตรอินทรีย์ เสริมคุณภาพอาหาร ลดต้นทุน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในพื้นที่
นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทบริหารจัดการของเสียครบวงจร โดยนำของเสียจากกระบวนการผลิตของ 2 โรงงาน ได้แก่ บริษัท อุบล ซันฟลาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง และของบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) โรงงานผลิตเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง 99.8% และเกรดอุตสาหกรรมสำหรับทำความสะอาดมือ 70 %
โดยน้ำเสียและกากมันจากโรงงานผลิตแป้งมัน จะถูกลำเลียงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์ในถังซีเมนต์แบบไร้อากาศขนาดใหญ่ ส่วนกากมันถูกส่งบ่อหมักแบบ CLBR (Covered Lagoon Bio Reactor) ซึ่งเปิดต่อเนื่องในปี 2553 และ2558 ซึ่งเป็นระบบบ่อหมักกาก จำนวน 3 บ่อ ขนาดบ่อละ 43,000 ลบ.ม. สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 168,000 ลบ.ม./วัน สามารถนำไปเป็นเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7.5 เมกกะวัตต์ ทดแทนการใช้น้ำมันเตาในการอบแป้งให้แห้ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 514,012 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ลดต้นทุนพลังงานคิดเป็นมูลค่า 81 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ได้ลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มเติมระบบบำบัดน้ำเสีย ที่เรียกว่า “ระบบตะกอนเร่ง” (Activated Sludge) มีการทดสอบระบบแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ทำหน้าที่บำบัดซ้ำอีกครั้งต่อจาก 2 ระบบข้างต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สามารถลดระยะเวลาการพักน้ำในบ่อพัก (Oxidation Pond) จาก 190 วัน เหลือเพียง 2 วันเท่านั้น ลดการใช้พื้นที่จากเดิม 121 ไร่ เหลือเพียง 2 ไร่ สามารถยกเลิกการใช้บ่อพักน้ำฯได้ 100 %
ปัจจุบันน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ป้อนโครงการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารสัตว์ และพลังงาน บนที่ดินของบริษัทฯ จำนวน 1,200 ไร่ และก่อสร้างท่อส่งน้ำบำบัดเพื่อการเกษตร มีเกษตรกรเข้าเป็นสมาชิก โดยผ่านการขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว 463 ครัวเรือน 2 อำเภอคือ ได้แก่ อำเภอนาเยีย และสว่างวีระวงศ์ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ รวมมูลค่าโครงการกว่า 500 ล้านบาท
ส่วนน้ำเสียและกากมันฯที่เป็นของเสียจากบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) จะนำเข้าสู่ระบบบำบัด ที่เรียกว่า MUR (Methane Upflow Reactor) เปิดดำเนินการเมื่อปี 2557 สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 98,000 ลบ.ม./วัน นำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อต้มไอน้ำ (Boiler) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 333,056 ตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ลดต้นทุนพลังงานโดยสามารถช่วยประหยัดงบประมาณคิดเป็นมูลค่า 130 ล้านบาทต่อปี
กากมันของโรงงานเอทานอล ภายหลังจากการหมักด้วยยีสต์จะเข้าสู่เครื่องแยกกาก (Decanter)
ทางบริษัทฯ ร่วมกับสำนักวิจัย และพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 และสถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี วิจัยพัฒนากากมันให้เป็นสารบำรุงดิน โดยนำกากมันฯ มาตาก และฉีดพ่นจุลินทรีย์ ช่วยเร่งการย่อยสลาย จนได้เป็นอินทรีย์วัตถุช่วยปรับโครงสร้างดินทรายให้มีความชุ่มชื้น และมีธาตุอาหารที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ มีเกษตรกรโครงการปลูกมันอินทรีย์ นำไปใช้ในการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ในอนาคตจะพัฒนางานวิจัยไปสู่อาหารสัตว์ ที่มีโปรตีนสูง ที่ตอบโจทย์การเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพส่งเสริมอาหารลดต้นทุน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น
แนวทางจัดการของเสียของกลุ่ม ดำเนินการภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนควบคู่กับจังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งการเรียนรู้ ผลิตพลังงานสะอาด อาหารสุขภาพของประเทศ