เคนยาใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ Atoms 4Food เพิ่มผลผลิตอ้อย
สำนักงานด้านพลังงานนิวเคลียร์ (NuPEA) มีการตั้งเป้าที่จะใช้เทคโนโลยี Atoms 4Food เพิ่มผลผลิตอ้อยในเขตเคนยาตะวันตก
เทคโนโลยี Atoms 4Food เพิ่งเปิดตัวโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร
รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ NuPEA วาบูยาโบ กล่าวว่าสำนักงานจะร่วมมือกับหน่วยงานการปกครองท้องถิ่น สถาบันอุดมศึกษา บริษัทน้ำตาล และสถาบันวิจัย เพื่อรับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี ด้านทรัพยากรมนุษย์ และอุปกรณ์สนับสนุนภาคเกษตรกรรม
ตัวอย่างเช่น เขาตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยการรสนับสนุนด้านการวิจัย NuPEA ในการช่วยเหลือมหาวิทยาลัยชูก้าให้สามารถพัฒนาอาหารสัตว์และสนับสนุนมหาวิทยาลัยมอยในการพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีที่ทนทานต่อความแห้งแล้งและต้านทานโรคได้ดี
“เรายังต้องการร่วมมือกับหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นในภูมิภาคตะวันตกอีกด้วย เพื่อหาวิธีที่เราสามารถรับประกันได้ว่าอ้อยจะให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อความแห้งแล้ง แก่เร็วพร้อมทั้งมีปริมาณซูโครสสูง เพื่อให้คนของเราสามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพืชผลดังกล่าวได้” เขากล่าวเสริม
วาบูยาโบตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า การฉายรังสีอาหาร มาใช้จะช่วยให้เคนยาลดการสูญเสียหลังจากการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน หุบเขารอยเลื่อนและบางพื้นที่ทางตะวันตกของเคนยา แม้จะเก็บเกี่ยวได้มาก แต่เกษตรกรสูญเสียผลผลิตมากกว่า 30% จากการโจมตีของศัตรูพืช โรคและแมลง
วาบูยาโบกล่าวที่เมืองคาคาเมการะหว่างการประชุมสุดยอดเศรษฐกิจและสังคมมูเลมเบครั้งแรก โดยอธิบายว่าเทคโนโลยีการฉายรังสีในอาหารสามารถใช้เพื่อฆ่าโรคต่าง ๆ แมลง และศัตรูพืชได้และยังใช้เพื่อถนอมอาหารได้อีกด้วย “หลายท่านคงรู้จักอิสราเอลซึ่งเป็นประเทศทะเลทรายที่ผลิตอาหารได้อย่างเหลือกินเหลือใช้ พวกเขาทำอย่างนั้นได้เพราะใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยการพัฒนาพืชผลที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อความแห้งแล้งและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง”
และเสริมว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในประเทศดังกล่าวสามารถเสริมธาตุอาหารให้พืชผลในปริมาณที่เหมาะสมและปริมาณน้ำที่พอดีตามที่พืชต้องการเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด
“พลังงานนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการบรรลุวาระด้านการพัฒนาโลก รัฐบาลเคนยาระบุว่าพลังงานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ปี 2573 ของวาระแห่งประเทศ การเข้าถึงพลังงานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราคาไม่แพง เชื่อถือได้ ปลอดภัย และยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศในปี 2573 และวาระการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากล่างขึ้นบนของพรรคการเมืองอย่างเคนยาควานซา” เขากล่าว
ประธานบริหารกล่าวว่าเคนยาวางแผนว่าจะได้รับประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ เป็นการลงทุนระยะยาวทันทีที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เริ่มต้นในปี 2570 ในเมืองคีลิฟิ และจะพร้อมสำหรับการเริ่มดำเนินการในปี 2577
เขาระบุว่าพลังงานนิวเคลียร์มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ด้านการเกษตรกรรม ด้านการแพทย์ ด้านสุขภาพของมนุษย์ ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา รวมไปถึงด้านการวิจัยและการฝึกอบรม “ในทางการแพทย์ เราทุกคนรู้ดีเกี่ยวกับโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ใช้ในการระบุหรือวินิจฉัยโรครวมไปถึงการรักษาด้วย อุปกรณ์บำบัดด้วยคลื่นวิทยุก็ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เช่นกัน”
เขาให้คำมั่นกับชาวเคนยาว่าในการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ทุกประเภท NuPEA จะดำเนินการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย
โครงการริเริ่มนี้เกิดขึ้นได้เนื่องมาจากผู้ว่าการรัฐ ฟอร์นานเดส บาราซา ประกาศว่ากลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคทะเลสาบ (The Lake Region Economic Bloc) กำลังมองหาโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนในการจัดตั้งสถาบันวิจัยน้ำตาลที่มหาวิทยาลัยมาซิน เด มูลิโร
ผู้ว่าการรัฐระบุว่าสถาบันจะช่วยเหลือในการสร้างองค์ความรู้ในการทำไร่อ้อยให้ได้ผลกำไรมากขึ้น
ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมาซิน เด มูลิโรมีคณะที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีน้ำตาลด้วย
ศาสตราจารย์ โซโลม ชิบาอิโระ รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยกล่าวว่า มีสามหลักสูตรในคณะเทคโนโลยีด้านน้ำตาลที่จะช่วยเพิ่มความรู้ด้านวิชาชีพเพื่อสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลได้
เขากล่าวในระหว่างการประชุมด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลของกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคทะเลสาบ (The Lake Region Economic Bloc) ว่ามหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการในการผลิตวัสดุที่ใช้ในการเพาะปลูกอ้อยที่สะอาดปราศจากสารพิษ โดยเรียกร้องให้หน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยจัดสรรที่ดินให้พวกเขาซึ่งสามารถยกระดับการใช้วัสดุปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้
“เรายังเข้าร่วมในการวิจัยเกี่ยวกับการผลิตผลพลอยจากอ้อยได้ ได้แก่ กากน้ำตาล ชานอ้อย และแอลกอฮอล์อีกด้วย ดังนั้นเราจึงพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรไม่เพียงแต่ทุกภาคส่วนที่อยู่ในเขตการปกครองคาคาเมก้าเท่านั้น แต่รวมทุกเขตในภูมิภาคทะเลสาบในด้านการวิจัย ตลอดจนความสามารถในการเพิ่มผลผลิตอ้อย” รองอธิการบดีกล่าวเสริม