เจาะประเด็นสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ปี 63
หลายคนตั้งคำถามถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยนับจากนี้ไปจะต้องเผชิญกับโจทย์หินด้านใดบ้าง ถือเป็นคำถามที่น่าติดตามและเป็นข้อกังวลของผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย “นายบัญชา คันธชุมภู” ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 หลังจากผ่านประสบการณ์การทำงานที่สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาตั้งแต่ปี 2530
นายบัญชา มองว่า ฤดูการผลิตอ้อยปี 2563/2564 มี 3 สิ่งหลักที่น่าห่วงคือ 1.ปัญหาเรื่องภาระหนี้เงินชดเชยฤดูการผลิตปี 2561/2562 จำนวน 3,948.91 ล้านบาท หากยังไม่มีข้อยุติจะส่งผลกระทบต่อการบริหารรายได้ของกองทุนที่จะเรียกเก็บจากระบบ 2.การลดลงของปริมาณอ้อย ประเทศไทยเคยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสู่โรงงานน้ำตาลสูงสุดในปี 2560/2561 ถึง 134.93 ล้านตัน หลังจากนั้นก็ลดต่ำลงตามลำดับ ดังนี้ ฤดูการผลิตปี 2561/2562 ปริมาณอ้อยลดลง เหลือ130.97 ล้านตัน ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เหลือ 74.89 ล้านตัน และฤดูการผลิตปี 2563/2564 ประมาณการว่าจะลดลงมาเหลือเพียง 65.00 ล้านตัน
“ปัญหาที่ปริมาณอ้อยลดลงอย่างต่อนื่อง มีปัจจัยสำคัญจากปัญหาภัยแล้งรุนแรงซ้ำเติมด้วยราคาอ้อยตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2560/2561 ราคา 790.62 บาทต่อตัน และปี 2561/2562 ลดลงเหลือ 680.44 บาทต่อตัน (ราคาที่ 10 C.C.S) มีส่วนทำให้ชาวไร่อ้อยส่วนหนึ่งไม่มั่นใจและหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า”
3.ปริมาณอ้อยที่ลดลงผลกระทบที่ตามมาคือเมื่อปริมาณอ้อยลดลงเราก็ผลิตน้ำตาลได้น้อยลง รายได้ของระบบก็ลดลงส่งผลให้รายได้ของกองทุนลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินด้วย ที่น่าจับตาไทยเคยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่การส่งออกน้ำตาลของไทยย้อนหลัง 5 ปี ลดลงต่อเนื่องปริมาณอ้อยลดลงรุนแรง
จากปริมาณ 130.97 ล้านตัน ในปี 2561/2562 เหลือ 74.89 ล้านตัน ในปี 2562/2563 และในปี 2563/2564 น่าจะอยู่ราว ๆ 65 ล้านตัน ต้องถือว่าเป็นการลดลงในระดับที่รุนแรงมาก และจากการได้พบปะพูดคุยกับผู้นำชาวไร่อ้อยหลายๆ คน เห็นว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป ในการเรียกความมั่นใจของชาวไร่อ้อยคืนมาเพื่อให้มีอ้อยเข้าหีบในระดับ 100 ล้านตันต่อปี
อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเห็นว่าจำนวนโรงงานน้ำตาลในขณะนี้ 57 โรงงานเพียงพอแล้ว ปริมาณอ้อยที่ลดลงจะส่งผลให้มีปริมาณอ้อยไม่เพียงพอต่อกำลังหีบของโรงงานและจะเกิดการแย่งอ้อยกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือต้องสร้างความมั่นใจให้กับชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะเรื่องของราคาอ้อยซึ่งต้องคุ้มกับต้นทุน ความมั่นคงของอาชีพการเกษตรชาวไร่อ้อย ความมั่นคงของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และความมีเสถียรภาพของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อชาวไร่อ้อยมีความมั่นใจ ในอาชีพนี้ก็จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากเช่นหลายปีก่อน
เร่งจ่ายชดเชยส่วนต่าง
นายบัญชา กล่าวถึง ภารกิจที่ต้องเร่งสานต่อนับจากนี้ คือ 1.การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561-2561/2562 ให้แก่โรงงานน้ำตาล ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 56 กรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานน้ำตาลเท่ากับส่วนต่างดังกล่าว แต่ชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกินในฤดูการผลิตปี 2560/2561-2561/2562 ที่กองทุนมีภาระตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างดังกล่าวให้แก่โรงงานน้ำตาล 57 บริษัททั่วประเทศ ในวงเงินรวมทั้ง 2 ปี สูงถึง 23,880.21 ล้านบาท
“ขณะนี้ได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 19,931.30 ล้านบาท คงเหลืออีก 3,948.91 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินชดเชยของฤดูการผลิตปี 2561/2562 อยู่ระหว่างนำเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (บอร์ด กอน.) พิจารณาเพื่อเสนอต่อ ครม.อนุมัติให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ มาจ่ายหรือให้เป็นเครดิตโรงงาน โดยใช้เงินรายได้ของกองทุนในอนาคตทยอยจ่ายเป็นปีๆ ไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น
2.ภาระหนี้เงินกู้ที่มีต่อ บมจ. ธนาคารกรุงไทย เป็นภาระหนี้ที่เกิดขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ได้อนุมัติให้กองทุนกู้เงินจาก บมจ. ธนาคารกรุงไทย จำนวน 15,047.53 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยจากสภาวะภัยแล้งในฤดูการผลิตปี 2558/2559 ในอัตรา 160 บาทต่อตัน โดยใช้รายได้ของกองทุนที่ได้รับจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ (โควตา ก.) 5 บาทต่อกิโลกรัม เป็นรายได้ในการชำระหนี้ ต่อมาเมื่อ 15 มกราคม 2561 รัฐบาลลอยตัวราคาน้ำตาลทรายและยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทั้งหมด จึงไม่มีรายได้ส่วนนี้เข้ากองทุนอีก กองทุนจึงต้องใช้รายได้ส่วนอื่นชำระหนี้ไปก่อน และได้ขอรัฐบาลอุดหนุน
โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ครม.มีมติสนับสนุนงบประมาณให้กองทุนฯผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อการชำระหนี้ส่วนที่เหลือจำนวน 2,085.16 ล้านบาท โดยการจัดสรรงบประมาณให้ปีละ 350 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถชำระหนี้เงินกู้ได้เสร็จสิ้นในปี 2569 ภาระหนี้ข้างต้นกองทุนจะต้องรับภาระในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี ตลอดทั้งสัญญา (ปี 2564-2569) เป็นเงินประมาณ 255 ล้านบาท
“นอกจากนี้เป็นเรื่องการบริหารรายได้รายจ่ายของกองทุน กองทุนอ้อยและน้ำตาลเพื่อศึกษา วิจัย พัฒนา และส่งเสริมการผลิตการใช้และการจำหน่าย การรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2542/2543 เป็นต้นมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อม ๆ กับการขยายตัวของอุตสาห กรรมนี้ โดยปัจจุบันรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย แค่ภาระในการจ่ายเงินชดเชยแค่รายการเดียวที่สูงถึงสองหมื่นกว่าล้านบาท ขณะที่รายได้ต่อปีของกองทุนได้รับอยู่ประมาณ 2,500 ล้านบาท จากการเรียกเก็บเงินตามมาตรา 57 เงินค่าธรรมเนียมการวิจัย และเงินตามระเบียบ กอน. 20 บาทต่อตัน ทั้งนี้สาเหตุที่เรียกเก็บได้น้อยเพราะปริมาณอ้อยเข้าหีบน้อยลง
“สรุปสถานะของกองทุนในปัจจุบันเป็นลูกหนี้เงินกู้ บมจ. ธนาคารกรุงไทย 2,085.16 ล้านบาท และเป็นลูกหนี้เงินชดเชยโรงงานน้ำตาล 3,948.91 ล้านบาท โดยภาระหนี้ส่วนแรก รัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ให้แล้วปีละ 350 ล้านบาท และภาระหนี้ส่วนที่สอง อยู่ระหว่างเสนอ กอน. เพื่อพิจารณาแนวทางการชำระหนี้ว่าจะกู้จากธนาคารพาณิชย์หรือให้เป็นเครดิตโรงงาน อย่างไรก็ตามในปี 2564 กองทุนยังมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอต่อการใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)”