เปิดตัวโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แห่งแรกในภาคอีสาน มุ่งขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)ดันโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่แห่งแรกในภาคอีสาน ตอบโจทย์การเติบโตกลุ่มธุรกิจ SMELs และ Startup มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ด้านพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ดันการวิจัยและพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมชีวภาพจากมันสำปะหลัง อ้อย และพืชเศรษฐกิจอื่น พร้อมดำเนินการผลิตเอทานอลเพื่อรับมือสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ในเฟสแรก คาดสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเข้ารับบริการมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ใน 3-5 ปี
มทส. เปิดตัวโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ หรือ SUT Biorefinery Pilot Plant แห่งแรกในภาคอีสาน ภายใต้การดำเนินงานของเทคโนธานี และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมตอบโจทย์ขยายฐานการเติบโตกลุ่มธุรกิจ SMELs และ Startup โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมชีวภาพจากมันสำปะหลัง อ้อย และพืชเศรษฐกิจอื่น เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ด้านพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลาสติกชีวภาพ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินเครื่องจักรเฟสแรกเร่งผลิตเอทานอลพร้อมผนึกกำลังศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทส. ผลิตแอลกอฮอล์เจล 75% ตามมาตรฐานคุณภาพบริการสู่สังคม และใช้ในกิจการของมหาวิทยาลัย เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมเผยแพร่ความรู้สู่สังคมจัดอบรมการทำแอลกอฮอล์เจลแก่หน่วยงานต่างๆ
รศ.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากงบบูรณาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากสำนักงบประมาณ ภายใต้แผนงานบูรณาการตามยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคน ในการสร้างโรงงานต้นแบบแห่งแรกของภาคอีสาน เพื่อการสนับสนุน ส่งเสริม และขยายฐานการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแอล (SMELs) และ สตาร์ทอัพ (Startup) ด้านพลังงานชีวภาพและเคมีจากมันสำปะหลัง อ้อย และพืชเศรษฐกิจอื่น ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจได้ทดลองใช้บริการวิจัย พัฒนา และสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการให้ผลิตและจำหน่ายอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านการดำเนินงานของสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เทคโนธานี และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤติ COVID-19 โรงงานนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในกิจการของมหาวิทยาลัยและบริการชุมชน
รศ.อภิชาติ บุญทาวัน กล่าวถึงการให้บริการของโรงงานต้นแบบฯ ว่า โรงงานดังกล่าว ได้ออกแบบเป็นลักษณะ R&D Pilot Plant โดยรับให้คำปรึกษา ออกแบบ และทดลองกระบวนการผลิตทางชีวภาพ เพื่อให้เห็นลักษณะผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบ โดยมีทีมงานนักวิจัยและผู้ช่วยวิจัยกว่า 10 คน คอยให้บริการ โดยกระบวนการในโรงงานต้นแบบที่สามารถให้บริการภาคเอกชนได้ ประกอบด้วย กระบวนการผลิตน้ำตาลจากชีวมวลชนิดต่างๆ กระบวนการหมัก การกรองสารละลายด้วยเยื่อแผ่นบาง การดูดซับ กระบวนการระเหยด้วยฟิล์มบาง การกลั่นลำดับส่วนแบบต่อเนื่อง การกลั่นลำดับส่วนแบบมีปฏิกิริยา การตกผลึก การกลั่นด้วยระยะทางสั้น การทำแห้งแบบพ่นฝอย การอบแห้งแบบถาด ระบบดูดซับแบบสลับความดันสำหรับการแยกคาร์บอนไดออกไซด์จากไบโอแก๊ส การแยกไนโตรเจนออกจากอากาศเพื่อผลิตออกซิเจน หรือ การแยกน้ำออกจากเอทานอลเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล เป็นต้น
คาดว่าในระยะเวลา 3-5 ปี หลังจากเปิดให้บริการ โรงงานต้นแบบแห่งนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเข้ารับบริการมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือในกระบวนการด้านพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพที่ทันสมัยแก่ผู้ประกอบการได้จำนวนกว่า 10 ราย และเกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ มากถึง 100 อัตรา พร้อมยกระดับผู้ประกอบการด้านพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพทั่วประเทศให้สามารถสร้างและพัฒนากระบวนการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพที่มีมูลค่าสูงให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สนใจในการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ สามารถติดต่อสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ในวันและเวลาทำการ