แทนซาเนียก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางน้ำตาลแอฟริกา
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการเกษตรกล่าวว่า ประเทศแทนซาเนียมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางของน้ำตาลทั้งระดับในประเทศและระดับอุตสาหกรรม หากสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่ จากพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแทนซาเนียสามารถใช้เพาะปลูกต้นอ้อยได้ ดังนั้นจึงเป็นที่ที่มีศักยภาพหลักในการผลิตน้ำตาล นอกเหนือจากการวางกลยุทธ์และการลงทุนรวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงชาวไร่อ้อยด้วย
ผู้เชี่ยวชาญนี้กล่าวกับนิตยสารบิสเนสวีคว่า บริษัทน้ำตาลภายในประเทศจะช่วยทำให้ลดการนำเข้าน้ำตาลจำนวนมากสำหรับอุตสาหกรรมและแม้แต่การบริโภคในครัวเรือน โดยทำให้ชาวไร่อ้อยมีโอกาสอยู่ในกระบวนการผลิตน้ำตาล
รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของแทนซาเนีย ศ. อดอล์ฟ เคนดา กล่าวว่าแทนซาเนียมีชาวไร่อ้อยจำนวนมาก แต่น่าเสียดายที่ผลผลิตทั้งหมดที่ได้จากพวกเขาไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตน้ำตาล เป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลน
ศ. อดอล์ฟรายงานว่า ชาวแทนซาเนียนแปลกใจที่เกษตรกรสามารถปลูกอ้อยได้เพียงพอ แต่ประเทศยังคงต้องนำเข้าน้ำตาลอยู่
ศ. อดอล์ฟซึ่งเพิ่งจะเข้าเยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลคิลอมเบโรพร้อมทั้งพูดคุยกับเกษตรกรในโมโรโกโร คาดว่าปี 2564 อาจเป็นปีสุดท้ายสำหรับบริษัทในประเทศที่จะนำเข้าสารให้ความหวาน โดยกล่าวว่าการนำเข้าน้ำตาลนั้นมีราคาถูกกว่า แต่ธุรกิจนี้กลับกลายเป็นเหมือน “การค้ายา” เพราะการนำเข้าน้ำตาลเริ่มดูเหมือนยาเสพติดหรือแก๊งค์มาเฟียที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ในการนำเข้า แต่ปีนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่มีการกระทำอย่างนี้ เพราะแทนซาเนียต้องการให้บริษัทต่างๆ นำเข้าน้ำตาล และฝ่ายบริหารน้ำตาลจะดำเนินการนำเข้าน้ำตาล
อย่างไรก็ดี ศ. อดอล์ฟตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤตการณ์น้ำตาลในประเทศไม่ได้เกิดจากการขาดอ้อยแต่ขาดนักลงทุนในการผลิตอ้อย
ปัจจุบัน แทนซาเนียมีโรงงานซึ่งผลิตน้ำตาลได้ 128,000 ตันต่อปีในชื่อบริษัทคิลอมเบโรซึ่งเป็นของนักลงทุนเอกชนอิลโลโวซึ่งถือหุ้น 75% และหุ้นส่วนที่เหลือรัฐบาลแทนซาเนียเป็นเจ้าของ
รายงานล่าสุดระบุว่าในปี 2562 ความต้องการน้ำตาลในประเทศของแทนซาเนียอยู่ที่ 470,000 เมตริกตันต่อปี ในขณะที่โรงงานแปรรูปน้ำตาลทั้ง 5 แห่งของประเทศมีกำลังการผลิต 378,000 ตัน
จากรายงานดังกล่าว การเพิ่มขึ้นของจำนวนอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้สารให้ความหวานเป็นวัตถุดิบทำให้ความต้องการน้ำตาลทั้งแบบบริโภคในครัวเรือนและแบบอุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16 จาก 610,000 ตันในปี 2561 เป็น 710,000 ตันในปี 2562
ปัจจุบัน ความต้องการน้ำตาลในระดับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 165,000 ตัน ในขณะที่ความต้องการน้ำตาลสำหรับอาหารอยู่ที่ 545,000 ตัน โดยบริษัทน้ำตาลคิลอมโบโรผลิตได้ 134,000 ตัน
ดร. อับดุล นคยา ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเกษตรตั้งคำถามว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในเมื่อแทนซาเนียสามารถผลิตน้ำตาลได้เพียงพอสำหรับใช้ในการผลิตอาหารและอุตสาหกรรม
ดร. อับดุลกล่าวว่าหากอุตสาหกรรมแปรรูปในท้องถิ่นมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสของเกษตรกรในประเทศและบริษัทอื่น ๆ อีกมากมายที่สนใจลงทุนในการปลูกอ้อย รวมทั้งรัฐบาลที่บังคับใช้นโยบายเพื่อควบคุมการนำเข้าน้ำตาลที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แทนซาเนียจะเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักของน้ำตาลเพื่ออุตสาหกรรมและการบริโภคในครัวเรือน
ดร. มารีลิน่า บักกา ที่ปรึกษาด้านเกษตรกรรมกล่าวว่าการมีโรงงานน้ำตาลห้าแห่งในประเทศเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ เหลือเพียงการประสานงานและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีเท่านั้น ในขณะนี้ เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลแทนซาเนียให้สัญญาว่าจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนมีความสนใจแปรรูปอ้อยจากเกษตรกรมากขึ้น แต่การเมืองเรื่องน้ำตาลจะต้องได้รับการควบคุม
เริ่มต้นการพัฒนาในปัจจุบัน
เป้าหมายของแทนซาเนียในเร็วๆ นี้ คือการทำให้น้ำตาลมีปริมาณที่พอเพียงได้ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำตาลอย่างต่อเนื่องในตลาด การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากบางอุตสาหกรรมที่คิดค้นกลยุทธ์ที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายในปี 2568 ในที่สุด
บริษัทน้ำตาลคิลอมเบโรกล่าวว่ามีแผนจะเพิ่มการผลิตถึง 144,000 ตันจากระดับน้ำตาลปัจจุบันที่ 127,000 ตันต่อปีเป็น 271,000 ตัน
แรงผลักดันเบื้องหลังการขยายการผลิตดังกล่าวคืออุปทานอ้อยที่เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจากเกษตรกรรายย่อยของบริษัท จาก 600,000 ตันในปัจจุบันเป็น 1,700,000 ตัน
นายโจเซฟ รูไกมูคามู ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทฯ กล่าวว่า ที่สำคัญ โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่นี้ได้มีการปรับขนาดเพื่อรับอ้อยทั้งหมดมาเข้ารับการบดภายในสิ้นเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อลดการหยุดชะงักและความสูญเสียที่มักเกิดจากการเริ่มต้นของฤดูฝน
ปัจจุบันประเทศแทนซาเนียผลิตน้ำตาลได้น้อยกว่า 470,000 ตันต่อปี แต่รัฐบาลคาดว่าการผลิตน้ำตาลในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 700,000 ตันภายในฤดูการเพาะปลูกปี 2067/2568
รัฐบาลแทนซาเนียยังคาดการณ์ด้วยว่าการผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะควบคู่ไปกับการลงทุนในกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
การอนุมัติอ้อยพันธุ์ใหม่ (ที่เหมาะสำหรับดินในท้องถิ่น) ได้ดำเนินการแล้วในเดือนมกราคมปีนี้ ในช่วงเวลาที่กำลังอยู่ระหว่างการขยายโรงงานน้ำตาลที่คาเกร่า บากาโมโย คิลอมเบโร และมูคุลาซีแห่งที่หนึ่งและสอง
นายโจเซฟกล่าวว่า จะมีการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น 4,000 กิโลลิตรที่โรงกลั่นเอทานอลที่อยู่ใกล้กันกับบริษัทน้ำตาลคิลอมเบโร ซึ่งจะทำให้การผลิตรวมต่อปีสูงถึง 16,000 กิโลลิตร เพื่อตอบสนองความต้องการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของแอลกอฮอล์ที่ใช้บริโภคได้ในประเทศและแอฟริกาตะวันออก
นายเอมี พังเว ประธานบริษัทน้ำตาลคิลอมเบโรกล่าวว่าความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้งของประธานาธิบดีซามีอา ซูลูฮู ฮัสซันในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับการเติบโตของภาคเอกชนนั้นได้รับการสนับสนุนจากมาตรการคุ้มครองอันมั่นคงสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลระดับท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่แน่วแน่ในการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นสำหรับโครงการดังกล่าวในแทนซาเนีย
นายเอมีตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนเกษตรกรรายย่อยทั้งหมดที่ส่งอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นจาก 7,500 เป็น 14,000 ถึง 16,000 ราย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านอีก 50,000 คนในหุบเขาคิลอมเบโร
นายเกวิน ดาลเกลอิช ผู้ถือหุ้นของบริษัทน้ำตาลแอฟริกาอิลโลโว อธิบายว่าการลงทุนในโครงการนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดทั่วทั้งทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจในการร่วมมือกับชาวแทนซาเนียเพื่อลดปริมาณการนำเข้าน้ำตาลทุกปีและตอบสนองความต้องการบริโภค
นายเกวินเสริมว่าด้วยการลดการนำเข้าน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ 144,000 ตัน อาจประเมินได้ว่าแทนซาเนียจะประหยัดเงินได้ 71 ล้านดอลลาร์จากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศต่อปี
มุ่งเน้นที่น้ำตาลในระดับอุตสาหกรรม
ดร. ยูซุฟ บาชา หุ้นส่วนการพัฒนาและอดีตเจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งของประเทศแทนซาเนีย กล่าวว่า น้ำตาลระดับอุตสาหกรรมยังคงเป็นผลิตภัณฑ์จากอ้อยที่นำเข้ามากที่สุด ดังนั้นจึงไม่ควรลืมแนวคิดในการผลิตน้ำตาลในระดับนี้เพราะประเทศแทนซาเนียมีศักยภาพมากพอที่จะทำเช่นนั้นได้
ดร. ยูซุฟกล่าวว่า หากแผนขยายงานในปัจจุบันเป็นไปด้วยดี จะเกิดความมั่นใจว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลบริโภคในครัวเรือนในประเทศจะคลี่คลาย แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการเมืองมากมายในอดีต โดยความคิดริเริ่มเหล่านี้ต้องเน้นที่น้ำตาลในระดับอุตสาหกรรมและอาจเป็นโอกาสสำหรับประเทศแทนซาเนีย สิ่งที่ต้องการในขณะนี้คือการลงทุนมหาศาลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของภาคเอกชนเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตตามครรลองของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ดร. ยูซุฟกล่าวว่า จะต้องเริ่มต้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าน้ำตาลในครัวเรือนซึ่งชาวแทนซาเนียนกังวลใจตลอดเวลานั้นมีอยู่ในตลาดก่อนที่จะเริ่มผลิตน้ำตาลเชิงอุตสาหกรรม เนื่องจากเราไม่สามารถเริ่มการผลิตน้ำตาลระดับอุตสาหกรรมได้หากยังมีความต้องการน้ำตาลในครัวเรือนไม่พอเพียง ในการขยายการผลิตนี้นี้ ต้องตั้งเป้าที่จะเริ่มต้นด้วยน้ำตาลที่ใช้ในครัวเรือนก่อน จากนั้นจึงจะเริ่มผลิตน้ำตาลเพื่ออุตสาหกรรมต่อไป
ในส่วนของนายโมเสส บวานา ผู้ปลูกอ้อยในเขตอำเภอบากาโมโย กล่าวว่าหากได้รับความช่วยเหลือและมีแรงจูงใจในการเพิ่มการผลิต ก็จะสามารถช่วยประเทศชาติให้บรรลุเป้าหมายในการผลิตน้ำตาลให้เพียงพอสำหรับใช้ในบ้านและในระดับอุตสาหกรรม โดยพื้นฐานแล้ว นี่คือกลยุทธ์ในการยกระดับและจูงใจเกษตรกรให้เห็นว่าการปลูกอ้อยเป็นโอกาส เพราะผู้ปลูกอ้อยต้องการให้อ้อยของตนแปรรูป ในขณะที่สามารถผลิตอ้อยได้มากขึ้นและทำให้แทนซาเนียเป็นศูนย์กลางของน้ำตาลทั่วโลก
ในขณะนี้ ได้มีการพยายามทำให้เกิดความแน่ใจว่าน้ำตาลที่นำเข้ามีปริมาณลดลงและการผลิตในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นแล้วในประเทศแทนซาเนีย