ไทยเล็งส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดไปญี่ปุ่น คาดเริ่มปี 63
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินถึงความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น ภายหลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของญี่ปุ่น เปิดดำเนินการและเดินครื่องการผลิต เฉพาะในช่วงปี 2562-2565 มีการคาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลทยอยเปิดดำเนินการใหม่อีก 2,000 กิโลวัตต์ ทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงจากไม้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งความต้องการนำเข้า Wood Pellet ที่เพิ่มขึ้น จะเป็นโอกาสสำหรับประเทศผู้ผลิตและส่งออกอย่างประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าเชื้อเพลิงชีวมวล ที่โรงไฟฟ้ารายใหม่ของญี่ปุ่น เริ่มให้ความสนใจที่จะเป็นพันธมิตร เพื่อเพิ่มความยั่งยืนทางด้านวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าที่จะเปิดเดินเครื่องการผลิตใหม่ในระยะข้างหน้าด้วย
เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลรูปแบบหนึ่ง สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ซึ่งเม็ดเชื้อเพลิงชีวมวลในต่างประเทศมีความต้องการค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากกระแสสนับสนุนพลังงานทดแทน ซึ่งเชื้อเพลิงชีวมวลผลิตมาจากวัสดุทางการเกษตร อาทิ แกลบ ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง กะลาปาล์ม เปลือกไม้ เศษไม้หรือขี้เลื่อยจากโรงงานแปรรูปไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ มาย่อยและลดความชื้นและนำมาอัดเป็นเม็ดหรือแท่ง ซึ่งจะได้เชื้อเพลิงชีวมวลที่มีค่าความชื้นต่ำและมีค่าความร้อนสูง มีความสะดวกในการขนส่ง และสามารถเก็บสต็อกวัตถุดิบได้นาน
ประเทศในเอเชียที่มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเป็นอันดับต้นๆ คือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แต่ทั้งสองประเทศล้วนผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการและต้องนำเข้าประเทศละมากกว่าล้านตันต่อปี แต่ความน่าสนใจตลาดญี่ปุ่นคือ ในระยะข้างหน้า จะมีแนวโน้มอัตราการใช้ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ โดยมีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านตันในปี 2562 มาเป็น 5 ล้านตันในปี 2565
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพทางด้านวัตถุดิบ โดยเฉพาะการโค่นต้นยางประมาณปีละ 4 แสนไร่ ซึ่งนอกจากจะได้เนื้อไม้แปรรูปเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ไม้แปรรูปแล้ว ผลพลอยได้ประเภทเศษไม้ เศษขี้เลื่อย ยังสามารถป้อนเป็นวัตถุดิบผลิตเป็น Wood Pellet ได้ถึงประมาณ 8 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท
มีการประเมินอีกว่า ในช่วงปี 2562-2565 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยของปริมาณความต้องการถึง 54.5% ดังนั้น ความต้องการนำเข้าเชื้อเพลิงชีวมวลที่เพิ่มขึ้น จะเป็นโอกาสสำหรับประเทศผู้ผลิตและส่งออกที่มีบทบาทสำคัญทั้งผู้ผลิตในอเมริกาเหนืออันได้แก่แคนาดา และผู้ผลิตในเอเชีย คือ เวียดนาม ซึ่งครองตลาด Wood Pellet ในญี่ปุ่น ที่มีการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นประมาณ 6.3 แสนตันและ 3.8 แสนตัน ตามลำดับ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 95% (ปี 2561) ขณะที่ไทยเองมีปริมาณการส่งออกประมาณ 1.2 หมื่นตัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 1.2% เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลของญี่ปุ่นที่เดินเครื่องอยู่เดิม มีการทำสัญญาซื้อขาย Wood Pellet ระยะยาว 10-20 ปีกับทั้งสองแหล่งผลิต ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำตลาดของ Wood Pellet จากไทย
สุดท้ายนี้ ปัจจัยที่จะเป็นตัวชี้วัดถึงโอกาสที่ไทยจะสามารถมีบทบาทการส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดไปยังญี่ปุ่นคือ การสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้า ทั้งด้านปริมาณและความต่อเนื่องของวัตถุดิบที่มีความยั่งยืนตลอดช่วงอายุสัญญาซื้อขาย เนื่องจากการสั่งซื้อจากญี่ปุ่นส่วนมากเป็นการทำสัญญาระยะยาว 10-20 ปี ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการของไทยอาจใช้โอกาสจากความพร้อมในด้านต่างๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์จาก White Pellet มาเป็น Black Pellet ที่มีค่าความร้อนสูงกว่า พร้อมทั้งขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ได้อีกด้วย