BRR เร่งผลิต “ภาชนะจากชานอ้อย” คาดรายได้พุ่ง 100 ล้านต่อปี
บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เตรียมผลิตภาชนะจากชานอ้อยในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ เผยเป็นไลน์ธุรกิจใหม่เพื่อมุ่งขยายช่องทางสร้างรายรับในอนาคต รับมีการออเดอร์สินค้าเป็นจำนวนมากและปราศจากค่าใช้จ่ายสำรองก้อนโตในไตรมาสที่ 3/2562 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้บริษัทถึง 100 ล้านบาทต่อปี
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหารบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR กล่าวว่า “สำหรับโครงการบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยในนามบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (Sugarcane Ecoware Co., Ltd. หรือ SEW) เพื่อแตกไลน์ธุรกิจใหม่เพิ่มเติมและขยายช่องทางสร้างรายรับในอนาคต ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานในส่วนของโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็นการผลิตเป็น 2 ส่วน คือ การผลิตบรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์ (Medical Ware) ปัจจุบันการเริ่มทดลองผลิตแล้วตั้งแต่ช่วงกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ส่วนโครงการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารทั่วไปนั้น จะสามารถเปิดผลิตได้ในช่วงตุลาคมนี้”
ขณะนี้แนวโน้มธุรกิจของ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ในไตรมาส 3/2562 น่าจะมีโอกาสพลิกเป็นบวก เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2/2562 ที่ขาดทุนราว 42 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ผลิตภัณฑ์น้ำตาลขยายตัว ผลมาจากมีออเดอร์บางส่วนเลื่อนส่งมอบมาในช่วงไตรมาส 3/2562 จากเดิมในไตรมาส 2/2562
ขณะเดียวกันธุรกิจยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษเกี่ยวกับการตั้งสำรองค่าชดเชยตามพรบ.แรงงานฉบับใหม่ ที่เพิ่มค่าชดเชยจากเดิม 300 วัน เป็น 400 วัน (กรณีทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างเป็นไปตามที่วางไว้ก็น่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับ BRR เพิ่มเติมถึงปีละ 100 ล้านบาท และคงเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยลดความผันผวนทางด้านธุรกิจน้ำตาลเดิมที่ต้องอิงราคาตลาดโลกอีกทางหนึ่ง ส่วนโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย (Refinery) ขนาดกำลังผลิตประมาณ 100,000 ตันต่อวัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์น้ำตาล ปัจจุบันโรงงานก่อสร้างเสร็จและจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าคงจะเริ่มสร้างรายได้อย่างเต็มที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้
ส่วนทิศทางราคาน้ำตาลโลกในปัจจุบันนั้นยังถือว่าทรงตัว โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ผลมาจากทางประเทศอินเดียมีการระบายซัพพลายออกมาเป็นจำนวน จึงทำให้ราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ที่ราคาระดับดังกล่าวนั้นยังถือเป็นว่าธุรกิจสามารถทำกำไรได้
ในขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจนล่าสุดมาอยู่ราว 30.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (อิงข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ 30 สิงหาคม 2562) BRR มองว่าเป็นปัจจัยลบต่อธุรกิจบ้างพอสมควร แต่เบื้องต้นได้มีการทำประกันความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าเพื่อบรรเทาผลลบจากเรื่องดังกล่าวแล้ว และมองว่ายังอยู่ในระดับที่ธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้
สุดท้ายนี้ ในส่วนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวลนั้น ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 9.9 เมกะวัตต์ โดย 2 โรงแรกมีการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ส่วนโรงที่ 3 หาก กฟภ.เปิดรอบการเจรจารับซื้อไฟฟ้าในอนาคตทางบริษัทคงมีแนวทางจะเข้าเจรจาเพื่อขายไฟฟ้าในระยะยาวเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันทาง BRR มีความพร้อมอยู่แล้ว และเบื้องต้นกำลังผลิตไฟฟ้าในส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3 นั้นได้มีการนำมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของบริษัทก่อนในช่วงแรก