ความท้าทายของอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลไทยปี 63
ท่ามกลางสภาวะภัยแล้งปีนี้ ส่งผลให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้น 74.89 ล้านตัน ลดลงจากฤดูการผลิตปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 130.97 ล้านตันอ้อย คิดเป็น 43% สิ่งที่เกษตรกรต้องเผชิญคือต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยสูง และคุณภาพผลผลิตอ้อยที่เสี่ยงจากปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงปัจจัยการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 เป็นผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอลง ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาน้ำตาลดิบตลาดล่วงหน้าที่นิวยอร์กช่วงต้นปี ได้พุ่งแตะระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 14 เซนต์ต่อปอนด์ จากนั้นเริ่มลดลงมาสู่ระดับ 11-12 เซ็นต์ต่อปอนด์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยอย่างยิ่ง ที่ทางหน่วยงานภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อยต้องหาทางบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุน หรือการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง เพื่อรับมือกับปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า “เพื่อรับมือ ต้องเร่งวางแผนบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกอ้อยในไร่ การจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่คุกคามอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตต่อไร่และคุณภาพอ้อยเข้าหีบ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยไม่ดีเท่าที่ควร และต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น”
ในส่วนของโรงงาน นายสิริวุทธิ์เผยว่า “ต้องจะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหีบสกัดน้ำตาลให้สูงที่สุด เพื่อให้ชาวไร่รับผลประโยชน์สูงสุดจากการเพาะปลูก โดยปีการผลิต 2562/63 ชาวไร่และโรงงานต้องร่วมมือบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบไม่เกิน 100 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบถึง 130 ล้านตันอ้อย ขณะเดียวกัน คุณภาพผลผลิตอ้อยยังเสี่ยงสูงจากปัญหาอ้อยไฟไหม้ เนื่องจากชาวไร่มีต้นทุนสูงในการจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดส่งโรงงาน แม้ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลพยายามจัดส่งรถตัดอ้อยเข้าไปช่วยเหลือชาวไร่คู่สัญญาแล้ว แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือ เช่น การสนับสนุนรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำให้แก่โรงงาน เพื่อนำไปสนับสนุนชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เป็นต้น”
ตามการวิเคราะห์ของหน่วยงานกลยุทธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) กล่าวว่า การบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในระยะสั้น ภาครัฐอาจส่งเสริมเกษตรกร เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกพืช การจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืช เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปรับรูปแบบการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ นอกจากนี้ การส่งเสริมให้เกษตรกรนำผลผลิตทางการเกษตรมาเข้าสู่ระบบการประกันภัยพืชผลมากขึ้น ก็น่าจะช่วยบรรเทาความเสียหายต่อรายได้เกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนทั้งในสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำท่วม ก็ยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขควบคู่กันไป โดยนอกจากการพัฒนาแหล่งน้ำ การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมถึงการจัดสรรน้ำแล้ว ยังต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆ ที่จะมาช่วยเสริมให้การใช้น้ำในภาคการเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเพาะปลูกพืชต่างๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการนำ Agritech มาใช้ เช่น ระบบการให้น้ำแบบอัตโนมัติซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ระบบเตือนภัยด้านภูมิอากาศที่จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรสามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำ และวางแผนเพาะปลูกพืชได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ในส่วนของระบบโลจิสติกส์ลำเลียงอ้อยหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่อ้อยเข้าโรงงาน ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่สุดต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพราะมีผลต่อค่าความหวานของผลิตซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพของอ้อยให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น มิตรผล มองว่าระบบโลจิสติกส์อ้อยรถตัด เป็นการบริหารจัดการการขนส่ง ตั้งแต่อ้อยอยู่ที่ไร่จนถึงโรงงานน้ำตาล โดยควบคุมระยะเวลาจากการตัดอ้อยถึงหีบอ้อย (Cut to Crush) ให้รวดเร็วที่สุด หรือไม่เกิน 8 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติอยู่ที่ 4-6 ชั่วโมง หลังเก็บเกี่ยวเสร็จ เพื่อให้ได้วัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพ ชาวไร่เองก็ได้ประโยชน์จากการขายอ้อยสด ค่าความหวานสูง ซึ่งเป็นมูลค่าเพิ่ม
รูปแบบระบบโลจิสติกส์ที่มิตรผลแนะนำ คือระบบโลจิสติกส์อ้อยรถตัดโดยใช้รถลำเลียงอ้อย (Haulout Bin) ทำงานในแปลงคู่กับรถตัดแล้วนำอ้อยมาเทใส่รถบรรทุกที่จอดรออยู่นอกแปลง ทำงานสลับกันไปแบบนี้จนกว่าอ้อยจะเต็มคันรถ รถคันที่อ้อยเต็มก็จัดการคลุมผ้ากันอ้อยหกหล่นวิ่งเข้าโรงงาน ระบบใหม่นี้ได้รับความนิยมใช้งานตั้งแต่ช่วง 5 ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน เพราะเป็นวิธีที่ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเสียเวลาจอดรอ ซึ่งในต่างประเทศเช่น บราซิลกับออสเตรเลีย ก็ใช้ระบบโลจิสติกส์นี้ในการเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าโรงงานทั้งหมด เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่โรงงานน้ำตาลทั่วโลกให้การยอมรับ เพราะความสำคัญของการขนส่งที่รวดเร็ว คือการรักษาค่าความหวานของอ้อยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดก่อนถึงมือผู้ประกอบการโรงงาน แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า การขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน นอกจากอ้อยสดแล้ว ก็ยังต้องเจอปัญหาอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานด้วย
ปัญหานี้ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการโรงงาน และชาวไร่อ้อยต้องร่วมกันแก้ไข เพราะนอกจากค่าความหวานที่เปลี่ยนไปแล้ว จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการสกัดน้ำตาลของโรงงานลดลงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ตามมาตรการการลดอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปภายใน 3 ปี ถึงแม้ว่าต้นทุนการตัดอ้อยในไร่อ้อยของเกษตรกรยังคงมีราคาสูง ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการซื้อรถตัดอ้อยที่มีมูลค่าสูงยังไม่คุ้มค่า แต่ในฤดูหีบปี 62/63 ที่เพิ่งปิดหีบไปล่าสุด พบว่ามีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 37.70 ล้านตัน คิดเป็น 50.34% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ขณะที่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 37.18 ล้านตัน หรือคิดเป็น 49.65% ถือเป็นปีแรกที่ทั้งภาครัฐ โรงงานและชาวไร่อ้อยได้ร่วมกันลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ดังนั้นฤดูหีบปี 63/64 คงต้องติดตามใกล้ชิดว่าที่สุดแล้วประเด็นเหล่านี้ทุกฝ่ายจะเข้ามาร่วมกันแก้ไขให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างไร
สถานการณ์การระบาดไวรัส COVID-19 ที่เป็นปัจจัยลบใหม่ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยแต่ก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง นั่นคือ ทำให้ไทยไม่อยู่ในสถานการณ์ปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคในประเทศตึงตัวจากที่บางฝ่ายมีการกังวลก่อนหน้านี้ เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลทรายลดต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควรทำให้โรงงานซึ่งมีการซื้อขายราคาน้ำตาลไปล่วงหน้าแล้วบางส่วนอาจกระทบได้ แต่ทั้งนี้ นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ยืนยันว่าไม่ต้องกังวลเพราะรัฐได้มีการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายไว้บริโภคในประเทศปี 62/63 จำนวน 2.5 ล้านตันหรือ 25 ล้านกระสอบ และยังมีปริมาณสำรองกันไว้อีก 2 ล้านตันซึ่งมั่นใจจะเพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนไทยโดยไม่ขาดแคลน
ในขณะที่สถานการณ์การการผลิตเอทานอลจากโรงงานน้ำตาลกำลังเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น สำหรับการผลิตเจลล้างมือและแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ COVID-19 ซึ่งโรงงานน้ำตาลเองก็ยอมรับว่าผลผลิตอ้อยที่ลดลงล่าสุดทำให้ปริมาณโมลาส (กากน้ำตาล) ที่จะเป็นวัตถุดิบการผลิตเอทานอลลดตามไปด้วย ตรงกันข้ามกันกับระดับความต้องการแอลกอฮอลล์ที่ต้องใช้ทางการแพทย์กลับเพิ่มสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ ประเทศมีความจำเป็นต้องนำเอทานอลไปใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ 70% สำหรับใช้ฆ่าเชื้อ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผู้ผลิตเอทานอลสามารถดึงกำลังการผลิตเอทานอลส่วนเกินกว่า 1 ล้านลิตร ออกมาใช้ได้หมด เครื่องจักรที่เคยเดินเครื่องการผลิตอยู่ที่ 60-70% ก็ผลิตได้ถึง 80-90% ดังนั้น ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังก็ได้ประโยชน์ เพราะความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ราคาก็ดีขึ้น แต่จะดีมากกว่านี้ หากนำมาผลิตแก๊สโซฮอล์ E20 เพราะจะทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นถึงวันละ 2 ล้านลิตร ซึ่งก็จะทำให้มีผู้ประกอบการสนใจขอเปิดโรงงานผลิตเอทานอลเพิ่ม และเบื้องต้นก็ได้รับรายงานว่า มีโรงงานอยู่ระหว่างขอเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล อีกประมาณ 5 แสนลิตรต่อวัน
ดังนั้น จากปัจจัยความท้าทายต่างๆที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยต้องเผชิญในฤดูผลิตปี 2563/64 นี้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรชาวไร่อ้อย และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมนี้คงต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไปที่อาจจะเกิดผลกระทบ เพื่อวิเคราะห์หาทางออกที่เหมาะสมในเรื่องเกษตรกรรมท่ามกลางภัยแล้ง ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือแม้แต่การปรับปรุงระบบโลจิสติกต์ขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน เพื่อเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ต่อวงการเกษตรกรรมไร่อ้อย รวมถึงติดตามสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลไทย ซึ่งรวมถึงราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ตอนนี้ได้ตกลงจากเดิมที่เคยพุ่งแตะสูงสุดในรอบสองปี และยังมีค่าเงินบาทที่เป็นปัจจัยชี้วัดอีกด้วย เพื่อรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจไทย เพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย