ทำไมเวียดนาม ตัดสินใจนำเข้าน้ำตาลราคาถูกมากกว่าที่จะผลิตเอง
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา เวียดนามได้ดำเนินการตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) โดยการลดภาษีนำเข้าน้ำตาล ทำให้โรงกลั่นน้ำตาลภายในประเทศเริ่มมีความหวังว่าเมื่อมีการนำเข้าน้ำตาลอย่างเป็นทางการเพิ่มมากขึ้น พวกเขาก็จะสามารถแข่งขันและลดปริมาณน้ำตาลที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายลงได้ แต่ความหวังดังกล่าวกลับพังทลายลงเมื่อน้ำตาลนำเข้ามีราคาที่ถูกกว่าน้ำตาลที่ผลิตได้ภายในประเทศ จึงทำให้โรงกลั่นน้ำตาลหลายแห่ง ได้ประสบปัญหาขาดทุนและเกษตรกรเลิกปลูกอ้อย
จากข้อมูลของสมาคมอ้อยและน้ำตาลเวียดนาม (Vietnam Sugarcane and Sugar Association: VSSA) ระบุว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยในปี พ.ศ. 2561-2562 มีเนื้อที่ถึง 192,000 เฮกตาร์ มีการผลิตอ้อยเชิงพาณิชย์กว่า 12 ล้านตัน ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยในพื้นที่เก็บเกี่ยวสูงถึง 63 ตันต่อเฮกตาร์ และมีการผลิตน้ำตาลกว่า 1.1 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม การเพาะปลูกในปี พ.ศ. 2562-2563 ซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม ผลผลิตอ้อยได้ลดลงโดยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยกว่า 150,000 เฮกตาร์ นอกจากนี้ ผลผลิตอ้อยเชิงพาณิชย์สูงกว่า 7 ล้านตัน ทำให้มีผลผลิตเฉลี่ยในพื้นที่เก็บเกี่ยวมากถึง 53 ตันต่อเฮกตาร์ และมีการผลิตน้ำตาลกว่า 700,000 ตัน
นายเกา อาห์น เซือง (Cao Anh Duong) ผู้รักษาการตำแหน่งประธานสมาคม VSSA อธิบายว่า เนื่องจากผลตอบแทนที่ต่ำเกินไป เกษตรกรจึงไม่สนใจที่จะปลูกอ้อยอีกต่อไปและเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ผลผลิตอ้อยจึงลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้การบริโภคและการแปรรูปอ้อยจึงลดลงต่ำที่สุดในจำนวนพืช 19 ชนิด ทำให้มีโรงกลั่นน้ำตาลที่ยังคงดำเนินกิจการมีจำนวนน้อยลง ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 29 แห่งเท่านั้น จากก่อนหน้านี้ที่มีทั้งหมด 44 แห่ง
เวียดนามบังคับใช้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) กับอุตสาหกรรมน้ำตาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งภาษีนำเข้าลดลงจากร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 5 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมน้ำตาลประสบปัญหาอันเนื่องมาจากน้ำตาลเถื่อน ปัจจุบันภายหลังจากที่ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) มีผลบังคับใช้ ปัญหาเหล่านี้กลับมีสาเหตุมาจากน้ำตาลนำเข้า
เขาวิเคราะห์ว่า ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่เวียดนามเริ่มดำเนินการตามข้อผูกพันของความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) กับอุตสาหกรรมน้ำตาล ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเข้าน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนามในช่วง 8 เดือนแรก เวียดนามได้นำเข้าน้ำตาลจากไทย 740,931 ตัน จากมาเลเซียกว่า 46,000 ตัน และจากพม่ากว่า 13,000 ตัน ทำให้ปริมาณการนำเข้าอ้อยของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าจากในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
จากข้อมูลของสมาคม ระบุว่า ราคาน้ำตาลภายในประเทศลดลง เนื่องจากมีการแข่งขันนำเข้าน้ำตาล รวมทั้งปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำตาลยังคงเกิดขึ้น นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสาเหตุให้การบริโภคน้ำตาลลดลง ราคาน้ำตาลจึงเริ่มลดลงตามไปด้วย โรงกลั่นน้ำตาลจึงมีทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้น ทางเลือกแรก คือต้องกักตุนน้ำตาลไว้ก่อนเพื่อรับมือกับการอ่อนตัวของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (operating cash flows) ซึ่งหมายความว่า นายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง หรือไม่สามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยฤดูกาลก่อนหน้านี้ได้ อีกทางเลือกหนึ่งคือ ยอมขายน้ำตาลด้วยราคาขาดทุนเพื่อรักษากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน แม้ว่าโรงกลั่นน้ำตาลจะพยายามอย่างเต็มที่ในการพยุงราคาอ้อยที่ลดลง เพื่อรักษาพื้นที่เพาะปลูกวัตถุดิบไว้ แต่ท้ายที่สุดแล้วโรงงานหลายแห่งก็ต้องปิดตัวลง
สาเหตุที่น้ำตาลนำเข้ามีราคาถูกกว่าน้ำตาลที่ผลิตได้ในประเทศนั้น ทางสมาคมอ้อยและน้ำตาลเวียดนาม ระบุว่า มีประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่จำนวน 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทั้งนี้ประเทศที่เหลือไม่ได้เปิดตลาดน้ำตาลภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ประเทศเหล่านี้จะมีมาตรการในการคุ้มครองเกษตรกรและอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในจากผลกระทบน้ำตาลจากตลาดต่างประเทศที่มีราคาถูก
ยกตัวอย่างเช่น ไทยส่งออกน้ำตาลทรายดิบที่อัตรา 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาน้ำตาลของไทยอยู่ที่ 450 เหรียญต่อตัน อุตสาหกรรมน้ำตาลของฟิลิปปินส์เคยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากน้ำตาลข้าวโพดที่นำเข้าจากจีน ด้วยเหตุนี้จึงมีการเก็บภาษีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลข้าวโพดเป็นส่วนผสมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
ตามการคาดการณ์ของสมาคม จากปริมาณการเพาะปลูกอ้อยในปี พ.ศ. 2563-2564 คาดว่าจะมีโรงกลั่นน้ำตาลปิดตัวลงอีกถึงสี่แห่ง นายเกา อาห์น เซือง แนะนำว่า สถานประกอบการต่างๆ จำเป็นต้องติดตามและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตและการค้าน้ำตาลภายในประเทศเพื่อเสนอให้สมาคมและกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าพิจารณาตรวจสอบและใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำตาลตามบทบัญญัติของกฎหมายเวียดนามและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการสร้างฐานข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันเกี่ยวกับการนำเข้า การส่งออก และการผลิตโดยอาศัยข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาทางการค้า รวมทั้งเพิ่มอ้อยเข้าไปในกลุ่มสนับสนุนในเร็วๆ นี้ และทำให้การสำรองน้ำตาลเป็นไปอย่างโปร่งใส