เวียดนามเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมอ้อย ผลักดันมูลค่าทางเศรษฐกิจให้พุ่งทะยาน
แม้หลายคนจะเชื่อว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยเวียดนามอาจประสบปัญหาใหญ่หลังจากที่ประเทศได้เข้าร่วมลงนามในความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) แต่ก็มีบางฝ่ายมองว่านี่อาจจะเป็นอนาคตอันสดใสของอุตสาหกรรมอ้อยในเวียดนาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ถึงจุดสูงสุดได้ ถ้าหากเกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดอย่างเกษตรกรชาวไร่อ้อยเอง
ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมชั้นแนวหน้าอย่างศาสตราจารย์ Võ Tòng Xuân กล่าวไว้ว่า ถ้าหากมีการลงทุนและการประยุกต์อย่างจริงจังก็จะทำให้อ้อยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนมูลค่าทางเศรฐกิจแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศได้อย่างมหาศาล เพราะทางภาครัฐได้ผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรมาตลอดระยะเวลาหลายปีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการมอบเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยแก่นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงการมอบพันธุ์อ้อยใหม่ๆ แก่เกษตรกร รวมถึงการฝึกอบรมทางทฤษฎีเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย
นิตยสารการลงทุนในหลักทรัพย์ฉบับหนึ่ง ได้อ้างอิงคำพูดของศาสตราจารย์ไว้ว่า “อ้อยมีจุดเด่นหลายด้านและมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกัน ภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบการก็ได้สร้างสภาวะที่เอื้อต่อการพัฒนาอ้อย เกษตรกรควรจะเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการปลูกอ้อยโดยประยุกต์ใช้หลักวิชาการที่ถูกต้องในการคัดเลือกสายพันธุ์ ดิน และปุ๋ย ประกอบกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการรายต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตของอ้อยและลดต้นทุนในการผลิต”
ศาสตราจารย์ Võ Tòng Xuân ระบุว่า อ้อยถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งในแง่ของวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาลที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภค และยังเป็นพืชที่ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนแก่ประชาชนในชนบทหลายแห่ง ทั้งนี้ พื้นที่การเพาะปลูกอ้อยของเวียดนามมีขนาด 270,000 เฮกตาร์ ให้ผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 1.3-1.5 ล้านตันต่อปี สิ่งนี้ช่วยสร้างอาชีพแก่เกษตรกรกว่า 35,000 ครัวเรือน
อ้อยมีประโยชน์หลายด้านเมื่อเทียบกับพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวระยะสั้นชนิดอื่น ซึ่งถ้าหากพิจารณาตามหลักชีววิทยาแล้ว อ้อยเป็นพืชที่ปรับตัวได้ดีเยี่ยมและเก็บเกี่ยวผลผลิตง่าย อีกทั้งยังทนทานต่อดินฟ้าอากาศและสภาวะต่างๆ และยังเป็นพืชที่เติบโตเร็ว ช่วยลดต้นทุนในการผลิต ส่วนในทางอุตสาหกรรมนั้น อ้อยจัดเป็นพืชแบบใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เพราะสามารถใช้ได้ตั้งแต่รากยันปลายยอด ลำของอ้อยสามารถนำไปใช้ผลิตเป็นน้ำตาล เหล้า กระดาษ ไม้อัด ยารักษาโรค และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้
ส่วนยอดอ้อยและใบอ้อยสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้ และการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยในเวียดนามยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมหาศาล เพราะปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในประเทศ คิดเป็นเพียงร้อยละ 26.5 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น ตามการคาดการณ์ขององค์กร OECD-FAO ระบุว่า ปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศของเวียดนามจะเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 5 ซึ่งคิดเป็น 1.8 ล้านตันภายในปี พ.ศ. 2566
นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมของภาครัฐและการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยก็ทำให้มีการคาดว่า การผลิตน้ำตาลของเวียดนามจะถึงพุ่งสู่จุดสูงสุดได้ในไม่ช้าเนื่องจากตลาดกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะอ้อยเป็นพืชที่ปลูกกันได้ง่ายโดยทั่วไป อีกทั้งยังมีสรรพคุณอื่นๆ เช่นรสชาติ และกลิ่นที่โดดเด่นกว่าน้ำตาลจากชูการ์บีท
ดังนั้น การเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์น้ำตาล เช่น น้ำตาลทรายแดง ที่มีการเติมกากน้ำตาลเข้าไปเพื่อเพิ่มรสชาติและสีสันอันเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ทั่วโลกรวมถึงผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้ตลาดเติบโต ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตลาดน้ำตาลของเวียดนามจะขยายตัวไปสู่ระดับโลกจากเม็ดเงินลงทุนมหาศาลของผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยที่หลั่งไหล่กันเข้ามา