ไทย-บราซิล เล็งผลักดันเอทานอล สู่ความยั่งยืนระดับโลก
“ไทย-บราซิล” สองประเทศยักษ์ใหญ่ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อวงการอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล และผลิตเอทานอลอันดับต้นๆของโลก ร่วมจับมือจัดสัมมนา “Sustainable Mobility: Ethanol Talk” ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมดึงตัวผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลังงานบราซิลเพื่อวิเคราะห์ถึงประสบการณ์ความเป็นมา การบริโภค และการสนับสนุนของรัฐที่มีต่อเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ทำให้บราซิลกลายประเทศที่มีอิทธิพลเป็นอันดับต้นๆของวงการเอทานอลระดับโลก หวังผลักดันไทยประยุกต์ใช้เอทานอลเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในประเทศไทยมากขึ้น
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ได้จับมือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศบราซิล ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ สมาคมอุตสาหกรรมอ้อยของบราซิล (UNICA) กลุ่มผู้ประกอบการเอทานอล (APLA) สำนักงานส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนของบราซิล (Apex-Brazil) จัดงานสัมมนา Sustainable Mobility : Ethanol Talks ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการใช้เอทานอลเป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อภาวะโลกร้อน”
“งานสัมมนาครั้งนี้เพื่อปลุกกระแสการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศไทย โดยนำเอทานอลที่เราสามารถผลิตได้จากอ้อย หรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ มาเป็นส่วนผสมในนำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ สามารถลดมลพิษในอากาศ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และช่วยให้อุตสาหกรรมเอทานอลมีความเข้มแข็ง สร้างความมั่นคงด้านพลังงานเชื้อเพลิงภายในประเทศอีกด้วย” นายสิริวุทธิ์กล่าว
Dr.Plinio Nastari ประธานกรรมการบริษัท Datagro เเละเป็นผู้แทนภาคประชาสังคมของสภานโยบายพลังงานแห่งชาติบราซิล กล่าวว่า “บราซิลเริ่มผลักดันให้เอทานอลเป็นนโยบายหลักกว่า 22% มีการใช้เอทานอลและมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในระยะหลัง ในบราซิลบางรัฐมีการใช้เอทานอลทั้งหมดทดแทนการใช้น้ำมัน ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมจนประสบความสำเร็จ บราซิลเริ่มจากให้เอทานอลแข่งกับแก๊สโซลีน เริ่มส่งออกไปยังสหรัฐโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ขณะนั้น (1986) มีกฎหมายทุ่มตลาดและกำหนดราคาเชื้อเพลิงแต่ยังเกิดปัญหาราคาไม่สะท้อนต้นทุนวัตถุดิบ ถัดมารัฐบาลจึงกล้าตัดสินใจปรับนโยบายให้เกิดแรงจูงใจมากขึ้นควบคู่ไปกับการศึกษาต้นทุนทางเศรษฐกิจไม่ใช่เพียงหาตลาดจนปัจจุบันจากขายเอทานอลเพื่อส่งออก”
แต่วันนี้เอทานอลกลับมีบทบาทสำคัญและจำเป็นต่อประเทศมาก เนื่องจากช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมความสำเร็จของอุตสาหกรรมมาจากวิสัยทัศน์ นโยบายรัฐบาลที่เร็วและชัดเจนจากการเริ่มกระตุ้นการใช้น้ำมันพื้นฐาน E12 ทำให้ในวันนี้จำนวนรถยนต์ในประเทศ 80% ของจำนวนรถยนต์นั้นมีสัดส่วนกว่า 75% ที่ใช้เอทานอล เพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในแต่ละปีบราซิลตั้งเป้าการใช้เอทานอลโดยมี 11 โรงกลั่น และกระตุ้นให้ใช้ในทุกสถานีบริการ ทั้งขยายการผลิตเอทานอลจากอ้อยเป็นข้าวโพดและพืชอื่น ๆ เพื่อรักษาสมดุล
ขณะที่ Dr.Gonçalo Pereira ศาสตราจารย์แห่ง University of Campinas หรือ Unicamp ในบราซิล กล่าวว่า “จริง ๆแล้วการเผาไหม้เกิดขึ้นได้ทุกแหล่งพลังงาน เช่น รถไฟฟ้าแม้สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งสะอาดและทันสมัยแต่กลับไม่มีการรณรงค์ ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้สร้างการรับรู้ว่าพืชพลังงานและสร้างการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ “การบริหารภายใต้นโยบายรัฐ บราซิลมีการบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯและพลังงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งที่ไทยต้องคำนึงคือนโยบายโดยเฉพาะไทยมีวัตถุดิบอยู่แล้ว ต้องเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตต่อไร่และกระตุ้นการใช้ให้มากขึ้น”
“บราซิลกับไทยต่างกันในแง่นโยบาย เรามี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ทุกอย่างมีโควตา ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ แต่บราซิลสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด ถึงเวลาเกิดปัญหาสามารถปรับได้ เช่น ชานอ้อยปรับค่าใช้จ่าย เทคโนโลยี ลงทุนสูง ได้หมด มองว่านโยบายเอทานอลของไทยดี มาถูกทาง แต่ปัญหาคือ เมื่อกำหนดเป็นแผนต้องทำให้ได้ด้วย เชื่อว่าจะเดินไปได้ดี เพราะอย่าลืมว่าเอทานอลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ ประเทศบราซิลใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันในรถยนต์มากว่า 40 ปี โดยปัจจุบันใช้อ้อยกว่า 60% หรือจำนวน 300 กว่าล้านตัน เป็นวัตถุดิบในการผลิต และบังคับใช้สัดส่วนผสมเอทานอลกับน้ำมันแก๊สโซลีน หรือเบนซิน ไม่ต่ำกว่า 25% ทำให้บราซิลมีความยืดหยุ่นในการผลิตน้ำตาล โดยเมื่อใดราคาน้ำตาลตกต่ำ แต่เอทานอลให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าก็จะนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากขึ้น ในทางกลับกัน หากเมื่อใดการผลิตน้ำตาลให้ผลตอบแทนมากกว่าเอทานอลก็จะนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้เอทานอลในบราซิลในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 600 ล้านตัน เทียบเท่ากับการใช้ต้นไม้จำนวนกว่า 4,000 ล้านต้น เพื่อดูดซับก๊าซดังกล่าว
มีข้อมูลว่า ปริมาณพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างเอทานอลในประเทศไทยปัจจุบัน มีสูงกว่าความต้องการใช้ เพราะกำลังการผลิตเอทานอลมีอยู่ประมาณ 5.8-6 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การใช้อยู่ประมาณ 4-5 ล้านลิตรต่อวัน สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เป็นรูปธรรมนั่นคือ นโยบายพลังงานทดแทนที่ชัดเจน มากไปกว่านั้นคือการตระหนักว่าเอทานอลมีข้อดีอีกมาก ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน หรือกองทุนรัฐให้ชัดเจน รวมถึงดึง E20 ควบคู่ไปกับต้นทุนที่เกษตรควรได้รับการอุดหนุน เพราะ 70% มาจากสินค้าเกษตร พืชเกษตร