KTIS ย้ำ “แอลกอฮอล์ไม่ขาดตลาด” ขายราคาถูก สู้โควิด-19
กลุ่ม KTIS ร่วมกับมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ สู้ศึกโควิด-19 ส่งเอทานอลที่ผลิตจากโรงงานเข้าสู่ตลาด จำหน่ายในราคาหน้าโรงงานลิตรละ 35 บาท หวังลดต้นทุนให้ราคาแอลกอฮอล์และเจลล้างมือปรับตัวลงสู่ระดับที่เหมาะสม ช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนในช่วงที่ความต้องการใช้สูง มั่นใจแอลกอฮอล์ไม่ขาดแคลน พร้อมเดินหน้าบริจาคแอลกอฮอล์และเจลล้างมือให้กับโรงพยาบาลและสถาบันการศึกษา เบื้องต้นประมาณ 30-40 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ และนครสวรรค์
นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS พร้อมที่จะจำหน่ายแอลกอฮอล์ที่ผลิตโดยโรงงานเอทานอลของกลุ่มที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีกำลังการผลิต 230,000 ลิตรต่อวันเข้าสู่ตลาด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความต้องการใช้แอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งแม้ว่า ความต้องการใช้จะสูงขึ้นจากช่วงเวลาปกติมาก แต่มั่นใจว่า แอลกอฮอล์จะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน
“กลุ่ม KTIS มีเจตนารมณ์ชัดเจนที่ต้องการจะช่วยเหลือสังคม โดยเราจะจำหน่ายแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากโรงงานของบริษัทเคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม KTIS ในราคาหน้าโรงงานที่ลิตรละ 35 บาท โดยคุณภาพของแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้จากโรงงานของเรามีมาตรฐานในระดับสากล สามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ เชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนหรือความต้องการแอลกอฮอล์ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน”
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมา การใช้แอลกอฮอล์มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์นำแอลกอฮอล์ไปผลิตเจลล้างมือจำนวนมาก ทำให้ราคาแอลกอฮอล์ปรับตัวสูงขึ้น เพราะเมื่อความต้องการสูงขึ้น ราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภคที่ต้องซื้อเจลล้างมือในราคาแพง ดังนั้นเชื่อว่า การป้อนแอลกอฮอล์ในราคาหน้าโรงงานเข้าสู่ระบบของกลุ่ม KTIS จะช่วยทำให้ปัญหานี้คลายตัวลงได้ในระดับหนึ่ง
“เรากำลังทำอยู่ 2 ด้านคือ กลุ่ม KTIS ได้เตรียมแอลกอฮอล์และเจลล้างมือ เพื่อบริจาคให้กับโรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา เบื้องต้นจำนวน 30-40 แห่งโดยกระจายทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดนครสวรรค์ ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา และอีกส่วนหนึ่งเราจะขายแอลกอฮอล์เข้าสู่ตลาดในราคาโรงงาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้แอลกอฮอล์และเจลล้างมือในราคาถูกลงกว่าปัจจุบัน ที่สำคัญคือ เป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ว่า แอลกอฮอล์ไม่ได้ขาดตลาด และไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ดังนั้นราคาสินค้าที่ใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมจึงไม่ควรจะมีราคาแพงในภาวะที่ผู้บริโภคมีความจำเป็นต้องใช้แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน”